ศิลปะการเล่าเรื่องหรือคะตะริโมะโนะ(語物)คือ ชื่อเรียกโดยรวมของศิลปะการแสดงประเภทหนึ่ง เป็นการเล่าเรื่องแบบมีจังหวะทำนองคล้ายการขับร้องแต่เน้นการสื่อความหมายของเนื้อหาเรื่องเล่า ศิลปะการเล่าเรื่องแตกต่างจากศิลปะการขับร้องหรืออุตะอิโมะโนะ(謡物)ซึ่งเน้นความสุนทรีย์เชิงดนตรี ความไพเราะของบทขับร้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าบางเรื่องมีลักษณะของศิลปะการขับร้องรวมอยู่ด้วย ศิลปินผู้เล่าเรื่องจะท่องจำเนื้อเรื่องจนขึ้นใจแล้วนำมาเล่าประกอบการบรรเลงดนตรี ส่วนมากเป็นประเภทเครื่องสาย เช่น โคะโตะ(琴)ซามิเซ็น(三味線)เป็นต้น ศิลปินมีทั้งเพศหญิงและชาย อาจเป็นศิลปินเดี่ยวหรือศิลปินกลุ่ม ส่วนมากเป็นศิลปินหญิงตาบอด พระตาบอด พระธุดงค์ มิโกะ(巫女หญิงรับใช้ในวัดหรือร่างทรง)เนื้อหาของเรื่องเล่ามักเป็นตำนานโบราณหรือเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น ตัวละครเอกเป็นปางหนึ่งของเทพเจ้าที่อวตารลงมาบนโลกเพื่อช่วยมนุษย์หรือตัวละครเอกของเรื่องเสียชีวิตลงแล้วได้จุติเป็นเทพเจ้า เป็นต้น ตัวละครเอกมักเป็นบุคคลที่เคยมีชีวิตหรือเชื่อกันว่ามีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าปากเปล่าบางเรื่องได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาต่อมาเช่น เฮะอิเกะโมะโนะงะตะริ(平家物語)ทะอิเฮะอิกิ(太平記)กิเกะอิกิ(義経記)โซะงะโมะโนะงะตะริ(曽我物語)เป็นต้น ศิลปะการเล่าเรื่องอาจแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่การเล่าดำเนินเรื่องเป็นทำนองตายตัว และวนซ้ำทำนองเดิมไปจนจบเรื่องเช่นบทเพลงหญิงตาบอดที่เรียกว่าโกะเสะอุตะ(瞽女唄)กับประเภทที่การเล่าดำเนินเรื่องมีสลับหลากหลายทำนอง เช่น เฮะอิเกียวกุ(平曲)หรือการเล่าเรื่องเฮะอิเกะโมะโนะงะตะริ การแสดงละครหุ่นโจรุริ(人形浄瑠璃)เป็นต้น
ต้นกำเนิดของศิลปะการเล่าเรื่องสันนิษฐานว่า มาจากการเล่าเทวตำนานหรือเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในงานประกอบพิธีกรรมของนักเล่าเรื่องมุขปาฐะที่เรียกว่าคะตะริเบะ(語部)ตั้งแต่สมัยโบราณของญี่ปุ่น ต่อมามีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและแยกเป็นการแสดงชนิดต่าง ๆ เช่น ในช่วงปลายของสมัยเฮอัน พระในพุทธศาสนาได้สวดพระไตรปิฎกและเล่าพุทธประวัติเป็นจังหวะทำนองในการประกอบพิธีทางศาสนา ต่อมาในสมัยคะมะกุระ พระดีดพิณบิวะหรือบิวะโฮฌิ(琵琶法師)ซึ่งตาบอดได้เล่าเรื่องเฮะอิเกะโมะโนะงะตะริเป็นจังหวะทำนองประกอบการบรรเลงพิณบิวะซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลทำนองการเล่ามาจากการสวดของพระในสมัยเฮอัน พระจะบรรเลงพิณบิวะเป็นช่วงสั้น ๆ แทรกระหว่างการขับร้องเป็นระยะ ต่อมาเมื่อถึงช่วงปลายของสมัยมุโระมะชิมีศิลปะการเล่าเรื่องรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเช่นการร่ายรำโควะกะมะอิ(幸若舞)การแสดงละครหุ่นโจรุริ เป็นต้น การร่ายรำโควะกะมะอิเป็นการเล่าเรื่องประกอบการร่ายรำ ใช้กลองเป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะ ศิลปินผู้แสดงมี 2-3 คน แบ่งแยกหน้าที่กันระหว่างผู้ขับร้องและผู้บรรเลงเครื่องดนตรีต่างจากการเล่าวรรณคดีเรื่องเฮะอิเกะโมะโนะงะตะริซึ่งมีเพียงคนเดียว ส่วนการแสดงละครหุ่นโจรุริเป็นการเล่าเรื่องประกอบการแสดงเชิดหุ่น การแสดงละครหุ่นโจรุริพัฒนายิ่งขึ้นในสมัยเอะโดะและเปลี่ยนเครื่องดนตรีบรรเลงเป็นชนิดใหม่จากเดิมคือพิณบิวะหรือใช้พัดเคาะเป็นจังหวะมาเป็นซามิเซ็น สมัยเอะโดะเป็นสมัยที่ซามิเซ็นได้รับความนิยมมาก การแสดงหลายอย่างได้เปลี่ยนเครื่องดนตรีมาเป็นซามิเซ็นรวมทั้งการเล่าวรรณคดีเรื่องเฮะอิเกะโมะงะตะริโดยศิลปินตาบอดด้วย
ศิลปะการเล่าเรื่องยังพบได้ในปัจจุบัน แต่มีบางชนิดที่หาดูได้ยาก เช่น การร่ายรำโควะกะมะอิ ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากบรรดานักรบสมัยมุโระมะชิ ปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่ยังคงอนุรักษ์การแสดงไว้คือ ที่มิยะมะ(みやま市)จังหวัดฟุกุโอะกะ(福岡県)
วินัย จามรสุริยา
เอกสารอ้างอิง
大塚民俗学会(1994)『日本民俗事典』弘文堂
小島美子他(2009)『祭・芸能・行事大辞典』上 朝倉書店
福田アジオ他(1999)『日本民俗大辞典』上 吉川弘文館