การแสดงตลกนำโชค 万歳 漫才

การแสดงตลกนำโชค หรือ มันสะอิ(万歳)มีต้นกำเนิดมาจากการแสดงเซ็นสุมันสะอิ(千秋万歳) ในช่วงกลางสมัยเฮอัน ผู้แสดงเป็นคนธรรมดาที่แต่งกายเลียนแบบพระและขับร้องอวยพรปีใหม่ประกอบการร่ายรำ ต่อมาในสมัยมุโระมะชิผู้แสดงเปลี่ยนเป็นพระชั้นผู้น้อยที่ปกติมีหน้าที่ดูแลเรื่องทั่วไป เช่น ทำความสะอาดบริเวณวัด ศาลเจ้าหรือมีหน้าที่ทำนายเหตุการณ์ เมื่อถึงวันปีใหม่พระเหล่านี้จะเดินทางไปแสดงตามบริเวณหน้าประตูปราสาทโชกุน หรือสถานที่พักของเหล่าขุนนางและจะได้รับข้าวสารหรือเงินเป็นสิ่งตอบแทน การแสดงประกอบด้วยผู้แสดง 2 คน ผู้แสดงหลักถือพัด ขับร้องอวยพรและขับไล่สิ่งชั่วร้ายประกอบการร่ายรำ ผู้แสดงอีกคนหนึ่งจะบรรเลงเครื่องดนตรีคือ กลอง ต่อมาการแสดงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น มีการแสดงในช่วงเวลาอื่นที่เป็นโอกาสแห่งความยินดีนอกเหนือจากปีใหม่ และขยายพื้นที่การแสดงไปตามประตูบ้านของชาวบ้านทั่วไปด้วย ต่อมาในสมัยเมจิเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย คือ ซามิเซ็น(三味線)ได้รับความนิยมอย่างมาก การแสดงจึงได้เพิ่มซามิเซ็นเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดง บางแห่งได้เพิ่มโคะโตะ(琴)หรือ จะเข้ญี่ปุ่น เข้าไปอีกอย่างหนึ่งด้วย ส่งผลให้จำนวนผู้บรรเลงเครื่องดนตรีมีจำนวนมากกว่า 1 คน และการแสดงสมัยนี้ได้เพิ่มบทเจรจาที่ใช้ถ้อยคำสนุกสนานเรียกเสียงหัวเราะมากขึ้น การแสดงตลกเพื่อเรียกรอยยิ้มเป็นการแสดงที่สะท้อนความเชื่อของชาวญี่ปุ่นแต่โบราณว่ารอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะนำมาซึ่งโชคลาภและความสุข ปัจจุบันการแสดงตลกนำโชคมีทั้งรูปแบบดั้งเดิมที่เน้นการอวยพรและรูปแบบใหม่ที่เน้นความสนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมเป็นสำคัญ

 

การแสดงตลกนำโชคแบบดั้งเดิมประกอบด้วยผู้แสดง 2 คน ผู้แสดงหลักเรียกว่าทะยู(太夫)แสดงร่วมกับผู้บรรเลงดนตรีเรียกว่า ซะอิโส(才蔵)ซึ่งรับบทเป็นผู้เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ทะยูใช้พัดเป็นอุปกรณ์ประกอบการขับร้องและร่ายรำตามจังหวะกลองของซะอิโส บทขับร้องเป็นถ้อยคำแสดงความยินดี อวยพรให้มีความสุข ผู้แสดงจะเดินทางไปแสดงบริเวณประตูบ้านผู้คนในช่วงขึ้นปีใหม่และจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งของ การแสดงตลกนำโชคแบบดั้งเดิมเป็นการแสดงเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ข้ามเขตไปแสดงในพื้นที่อื่น บ้านที่เดินทางไปแสดงส่วนมากเป็นหลังเดิมที่เคยไปแสดงเมื่อปีก่อนหน้า การแสดงนี้สะท้อนความเชื่อของชาวญี่ปุ่นจากสมัยโบราณว่า เทพเจ้าจะเสด็จมาเยือนบ้านผู้คนในวันขึ้นปีใหม่เพื่ออวยพรและบันดาลให้เกิดความสุขแก่ผู้อยู่อาศัย

 

การแสดงตลกนำโชครูปแบบใหม่ประกอบด้วยผู้แสดง 2 คนเรียกว่า โบะเกะ(ボケ)และท์ซุกโกะมิ(ツッコミ)ผู้แสดงที่รับบทเป็นโบะเกะจะเล่าเรื่องตลกขำขัน เรื่องแปลกประหลาด หรือเรื่องธรรมดาทั่วไปที่ตนเองเข้าใจผิดหรือมีข้อผิดพลาดชวนให้ผู้ชมหัวเราะ ขณะที่ผู้แสดงอีกฝ่ายหนึ่งรับบทเป็นท์ซุกโกะมิมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง เฉลยคำตอบหรือขยายความแทรกเป็นระยะขณะที่โบะเกะเล่าเรื่อง บางครั้งท์ซุกโกะมิยังแสดงบทบาทเป็นผู้นำโบะเกะที่สนทนาออกนอกเรื่องกลับเข้าสู่ประเด็นเดิม ระหว่างการแสดงนั้น ท์ซุกโกะมิอาจใช้มือตบศีรษะหรือผลักไหล่ของโบะเกะเพื่อเป็นการเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม การแสดงตลกนำโชครูปแบบใหม่มีแสดงในโอกาสต่าง ๆ นอกเหนือจากช่วงปีใหม่ สถานที่แสดงอาจเป็นเวทีที่จัดขึ้นตามงานหรือเวทีเฉพาะเพื่อถ่ายทอดโทรทัศน์และวิทยุ บางครั้งใช้เครื่องดนตรีแบบตะวันตกร่วมด้วยเช่นกีต้าร์ ผู้แสดงมีทั้งเพศหญิงและชาย เครื่องแต่งกายของผู้แสดงไม่มีข้อกำหนดตายตัวแต่นิยมสวมสูทแบบสากลนิยม

 

วินัย จามรสุริยา

 

เอกสารอ้างอิง
大阪府立上方演芸資料館(2008)『上方演芸大全』創元社
小島美子他(2009)『祭・芸能・行事大辞典』下 朝倉書店
福田アジオ他(2000)『日本民俗大辞典』下 吉川弘文館

Read more