ศิลปะการขับร้อง 謡物

ศิลปะการขับร้องหรืออุตะอิโมะโนะ(謡物)เป็นชื่อเรียกโดยรวมของศิลปะการแสดงประเภทหนึ่ง เป็นการขับร้องโดยเน้นความสุนทรีย์เชิงดนตรี เน้นความไพเราะของบทขับร้อง ศิลปะการขับร้องแตกต่างจากศิลปะการเล่าเรื่องหรือคะตะริโมะโนะ(語物)ซึ่งเน้นการสื่อความหมายของเนื้อหาเรื่องเล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของบทขับร้องแล้วพบว่า บางบทมีส่วนที่เป็นลักษณะของศิลปะการเล่าเรื่องรวมอยู่ด้วย บทขับร้องมักเป็นการพรรณนา บางบทอยู่ในรูปร้อยกรอง การขับร้องส่วนมากมักยืดเสียงสระให้ยาวขึ้นพร้อมเปลี่ยนเป็นเสียงสูงเพื่อให้เกิดความไพเราะทางดนตรี ตัวอย่างของศิลปะการขับร้อง ได้แก่ การขับร้องเพลงพื้นบ้าน(民謡)การขับร้องกวีนิพนธ์จีนโบราณที่เรียกว่าฌิงิน(詩吟)เป็นต้น

 

หลักฐานจากซากโคะโตะ(琴)หรือ จะเข้ญี่ปุ่น เครื่องดนตรีโบราณที่ขุดค้นพบได้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการบรรเลงดนตรีและขับร้องมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว และจากหลักฐานบทเพลงที่ปรากฏในบันทึกโคะจิกิ(古事記)บันทึกนิฮนโฌะกิ(日本書紀)และบันทึกอื่น ๆ ทำให้เชื่อได้ว่ามีการขับร้องทั้งในงานพระราชพิธีและโอกาสต่าง ๆ ในหมู่ชาวบ้านทั่วไป เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในสมัยนั้นเป็นประเภทเครื่องสาย คือ วะงน(和琴)ต่อมาสมัยเฮอันมีบทขับร้องของการแสดงอะสุมะอะโซะบิ(東遊)ซึ่งอยู่ในรูปแบบของศิลปะการขับร้อง ศิลปะการขับร้องได้เพิ่มจำนวนขึ้นในสมัยเอะโดะ เช่น จิอุตะ(地歌)ซึ่งศิลปินตาบอดเป็นผู้พัฒนาขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้คือซามิเซ็น(三味線)และโคะโตะ ศิลปินผู้ขับร้องจิอุตะ คือ อดีตศิลปินผู้เล่าเรื่องเฮะอิเกะโมะโนะงะตะริ(平家物語)ศิลปะการขับร้องยังคงมีการแสดงอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น นะงะอุตะ(長唄)ฮะอุตะ(端唄)อุตะสะวะ(うた沢)เป็นต้น

 

วินัย จามรสุริยา

 

เอกสารอ้างอิง
小島美子他(2009)『祭・芸能・行事大辞典』上 朝倉書店
 

Read more