นะนิวะบุฌิ 浪花節

นะนิวะบุฌิที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรเกียวกุ(浪曲)เป็นการร้องคลอการเล่นซอสามสายญี่ปุ่นหรือฌะมิเซ็น(三味線)และเล่าเรื่องประกอบ โดยมีผู้แสดงคนเดียว คล้ายการขับลำนำ มีที่มาจากการร้องเพลงประกอบการแสดงหุ่นโจรุริ(浄瑠璃)หรือ การร่ายบทสวดมนต์ เมื่อประมาณ ค.ศ. 1716-1736 ชายชาวโอซาก้าชื่อ นะนิวะ อิซุเกะ(浪花伊助)ได้เริ่มร้องเพลงคลอฌะมิเซ็น จนแพร่หลายและเกิดมีผู้แสดงสืบทอดต่อมา จึงเรียกเพลงประเภทนี้ว่านะนิวะบุฌิจากชื่อของนักร้องคนนี้ นะนิวะบุฌิมักตั้งเพิงเล่นตามลานวัดหรือศาลเจ้า จนเมื่อประมาณสมัยเมจิตอนต้นมีการนำมาแสดงบนเวที จากนั้นรูปแบบการร้องและเนื้อหามีพัฒนาการและยกระดับขึ้นในสังคม ตั้งแต่ยุคที่แผ่นเสียงเฟื่องฟูในช่วงปลายสมัยเมจิ นะนิวะบุฌิเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเช่นเดียวกับเพลงประเภทอื่น ๆ

 

โรเกียวกุเพลงหนึ่งอาจมีทั้งแบบเล่าเรื่องจบในเพลงเดียว และหลายเพลงเล่าเรื่องราวต่อเนื่องกันไป โดยทั่วไปเพลงหนึ่งมักยาวประมาณ 30 นาที การแสดงแบ่งเป็นส่วนร้องเพลงบรรยายเหตุการณ์และสภาพจิตใจตัวละครเรียกว่า ฟุฌิ(節)และส่วนบทพูดของตัวละครเรียกว่า ทังกะ(啖呵)เนื้อเรื่องที่นิยมนำมาแสดงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในการแสดงหุ่นโจะรุริ ละครคาบูกิ และวรรณกรรม มีทั้งเรื่องรักรันทด เรื่องสงคราม เรื่องตลก ฯลฯ

 

ภัทร์อร  พิพัฒนกุล

 

รายการอ้างอิง

興津要(1985)『日本を知る事典』社会思想社, pp. 668-669

Read more