การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษ 盆踊り

การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือ บงโอะโดะริ คือ การเต้นรำหรือโอะโดริ(踊り)ประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น ปัจจุบันจัดขึ้นราวกลางเดือนสิงหาคมของทุกปีซึ่งเป็นช่วงของเทศกาลโอะบง(お盆)หรือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การรำนี้นิยมจัดในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อสะดวกแก่การมาร่วมงาน ผู้รำไม่จำกัดเพศ วัยและจำนวน ไม่มีข้อกำหนดตายตัวด้านเครื่องแต่งกายแต่ผู้รำนิยมสวมชุดยุกะตะและอาจมีเครื่องประดับอื่นเสริมเช่นหมวก ในหนึ่งเพลงมีท่ารำจำนวนน้อยท่าแต่รำวนซ้ำท่าเดิมจนจบเพลง ท่ารำแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ รูปแบบการรำมีทั้งแบบดั้งเดิมที่เดินรำไปตามบ้านเรือนผู้คนในชุมชน และรูปแบบใหม่ซึ่งพบมากในปัจจุบันคือ รำเป็นวงรอบซุ้มสูงที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ซุ้มมักใช้เป็นที่วางเครื่องดนตรีเพื่อบรรเลงให้จังหวะ นิยมประดับด้วยโคมไฟและผ้าสลับริ้วขาวแดง การรำรูปแบบใหม่นี้นิยมจัดตามลานโล่งกว้างของวัด ศาลเจ้าหรือสวนสาธารณะ เพลงประกอบการรำมีสองชนิด คือ เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ที่มีจำนวนพยางค์เป็น 7-7-7-5 พยางค์ กับเพลงที่มีเนื้อหาเป็นตำนานเรื่องเล่า มีจำนวนพยางค์เป็น 7-7 หรือ 7-5 พยางค์ เครื่องดนตรีประกอบด้วยขลุ่ย กลองและอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่

 

การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษของแต่ละท้องที่มีจุดประสงค์ในการจัดแตกต่างกัน สามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้ 4 ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง จัดเพื่อแสดงถึงการมาเยือนของวิญญาณบรรพบุรุษ ประเภทนี้จะเดินรำไปตามที่อยู่อาศัยของผู้คน เป็นการรำที่สะท้อนความเชื่อที่ว่าวิญญาณจะเดินทางไปเยือนบ้านต่าง ๆ และจะบันดาลให้เกิดความสุข ประเภทที่สอง คือ การรำเพื่อปลอบโยนวิญญาณของบรรพบุรุษโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิญญาณของคนในท้องถิ่นที่เสียชีวิตหลังการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าวิญญาณของคนที่เสียชีวิตได้ไม่นานจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปราศจากมลทิน วิญญาณเหล่านี้อาจบันดาลให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้น เช่น โรคระบาดในท้องถิ่น ประเภทที่สาม คือ การรำเพื่อส่งวิญญาณที่ดุร้ายให้ออกไปนอกท้องถิ่นของตน เช่น วิญญาณที่บันดาลให้เกิดโรคร้ายหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ประเภทที่สี่ คือ การรำเพื่อความบันเทิง ประเภทนี้พบมากในปัจจุบัน เพราะเป็นโอกาสที่คนในท้องถิ่นเดียวกันจะได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคี ผู้คนในท้องถิ่นและใกล้เคียงจะเข้าร่วมงานอย่างสนุกสนาน    

 

การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีต้นกำเนิดมาจากการรำยูยะกุเน็มบุท์ซุ(踊躍念仏)ซึ่งพระชื่อคูยะ(空也)รำถวายเป็นพุทธบูชาในสมัยเฮอัน ต่อมาในสมัยมุโระมะชิมีการรำแบบใหม่เกิดขึ้น เป็นการผสมผสานศิลปะการแสดงอื่นเข้ากับการรำยูยะกุเน็มบุท์ซุ ดังปรากฎในบันทึกคัมมนนิกกิ(看聞日記)ของโกะซุโกอิน(後崇光院)ซึ่งกล่าวถึงการรำที่จัดขึ้นวันที่ 15 หรือ 16 ของเดือน 7 ตามปฏิทินโบราณของญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี ทั้งหญิงชายรำโดยแต่งกายและประดับประดาหลากหลายรูปแบบตามความนิยมส่วนตัว จากบันทึกนี้สันนิษฐานได้ว่า เป็นการรำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่วิญญาณหรือเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เนื่องจากช่วงวันที่ 15 เดือน 7 ของทุกปีเป็นช่วงเซ่นไหว้บรรพบุรุษซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเกียวโตได้รับความนิยมสูงสุดตอนปลายสมัยมุโระมะชิ มีผู้รำเป็นกลุ่มจำนวนมากสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอันงดงาม เป็นการรำที่ยิ่งใหญ่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าแคว้นที่เรียกว่าไดเมียว(大名)ต่าง ๆ ปัจจุบันมีการรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษทั่วประเทศญี่ปุ่น ในงานมีการออกร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม ขนม การละเล่นอื่น ๆ นับเป็นหนึ่งในงานบันเทิงรื่นเริงของช่วงฤดูร้อนที่คนญี่ปุ่นนิยมมากงานหนึ่ง

 

วินัย จามรสุริยา

 

เอกสารอ้างอิง
小島美子他(2009)『祭・芸能・行事大辞典』下 朝倉書店
田中宣一、宮田登(2000)『三省堂年中行事事典』 三省堂
早稲田大学演劇博物館(1990)『演劇百科大事典』第5巻 平凡社

Read more