มันโยฌู เป็นหนังสือรวบรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุด มีทั้งหมด 20 เล่ม ประกอบด้วยบทกลอนทั้งหมดประมาณ 4,500 บท การรวบรวมและคัดสรรบทกลอนในมันโยฌู ได้ดำเนินมาเป็นเวลานานจนกระทั่งในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 8 โอโตะโมะ โนะ ยะกะโมะชิ(大伴家持)ได้รวบรวมเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม
บทกลอนในมันโยฌูที่เก่าแก่ที่สุดคือบทกลอนในสมัยของจักรพรรดินินโตะกุ(仁徳天皇)ซึ่งอยู่ในราวต้นศตวรรษที่ 5 ส่วนบทกลอนที่ใหม่ที่สุดคือบทกลอนของโอโตะโมะ โนะ ยะกะโมะชิ (ค.ศ.759) ผู้แต่งบทกลอนในมันโยฌูมาจากหลากหลายชนชั้นตั้งแต่จักรพรรดิไปจนถึงชาวบ้าน บทกลอนเหล่านี้รวบรวมมาจากหลากหลายที่ตั้งแต่ยะมะโตะ (แถบนารา(奈良)และเกียวโต(京都)ในปัจจุบัน) ไปจนถึงคิวชู(九州) บทกลอนในมันโยฌูเขียนด้วยตัวอักษรจีนทั้งหมดโดยยืมเสียงอ่านทั้งแบบจีนและแบบญี่ปุ่นมาเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า มันโยงะนะ(万葉仮名)
บทกลอนในมันโยฌูสามารถแบ่งออกได้ตามช่วงเวลาที่แต่งเป็น 4 ช่วงคือ
ช่วงที่หนึ่ง เป็นบทกลอนตั้งแต่สมัยจักรพรรดิโจะเมะอิ(舒明天皇, ค.ศ.629)จนถึงกบฏจินชิน (ค.ศ.672) มีประมาณห้าสิบบท มักแสดงความรู้สึกของผู้แต่งต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ผู้แต่งกลอนในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นจักรพรรดิและขุนนาง เช่น จักรพรรดิเท็นจิ(天智天皇)เจ้าชายอะริมะ(有間皇子)เจ้าหญิงนุกะตะ(額田王)
ช่วงที่สอง เป็นบทกลอนตั้งแต่หลังกบฏจินชินจนถึงช่วงที่ย้ายเมืองหลวงมานาราในปี ค.ศ.710 ในช่วงนี้มีกวีที่สำคัญเกิดขึ้นหลายคน เช่น คะกิโนะโมะโตะ โนะ ฮิโตะมะโระ(柿本人麻呂)ผู้แต่งบทกลอนชื่นชมราชวงศ์และบทกลอนไว้อาลัยหลายบท ทะเกะชิ โนะ คุโระบิโตะ(高市黒人)ผู้แต่งบทกลอนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นต้น นอกจากนี้เทคนิคการแต่งกลอน เช่น มะกุระโกะโตะบะ(枕詞 คำประดับหน้า)โจะโกะโตะบะ (序詞 กลุ่มคำขยายนำ)และท์ซุอิกุ(対句 การนำสิ่งต่างมาเรียงซ้อน)ก็ได้รับการสร้างสรรค์เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ในช่วงนี้
ช่วงที่สาม เป็นบทกลอนตั้งแต่ย้ายเมืองหลวงมานาราจนถึงปี ค.ศ.733 มีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ยะมะเบะ โนะ อะกะฮิโตะ(山部赤人)ผู้มีชื่อเสียงในการแต่งบทกลอนบรรยายความงามของธรรมชาติ โอโตะโมะ โนะ ทะบิโตะ(大伴旅人)ผู้ชื่นชอบสุราและการท่องเที่ยว ยะมะโนะอุเอะ โนะ โอกุระ(山上憶良)ผู้ชอบแทรกคำสอนของขงจื๊อและพุทธศาสนาไว้ในบทกลอน เป็นต้น บทกลอนในช่วงนี้มักสะท้อนให้เห็นถึงไหวพริบและลักษณะเด่นเฉพาะตัวของผู้แต่ง
ช่วงที่สี่ เป็นบทกลอนตั้งแต่สมัยจักรพรรดิโฌมุ(聖武天皇, ค.ศ.734)จนถึงปี ค.ศ.759 หรือช่วงกลางของสมัยนารา กวีที่สำคัญคือ โอโตะโมะ โนะ ยะกะโมะชิ บทกลอนในช่วงนี้แสดงถึงแนวโน้มการใช้กลอนเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกันในสังคม และแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการแต่งกลอนซึ่งจะพัฒนาไปสู่รูปแบบการแต่งกลอนในสมัยต่อมา
เนื้อหาบทกลอนในมันโยฌูสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภทคือ บทกลอนโต้ตอบเกี่ยวกับความรัก หรือโซมง (相聞歌)บทกลอนไว้อาลัยผู้ตายหรือบังกะ(挽歌)และบทกลอนอื่นๆ ซึ่งมักเป็นบทกลอนที่แต่งในวังที่เรียกกันว่า โสกะ(雑歌)นอกจากนี้ยังได้รวบรวมบทเพลงจากหัวเมืองตะวันออกที่เรียกว่า อะสุมะอุตะ(東歌)และบทกลอนของทหารรักษาชายแดน ที่เรียกว่าซะกิโมะริโนะอุตะ(防人の歌)ไว้ด้วย
อรรถยา สุวรรณระดา