คะเงะโรนิกกิ 蜻蛉日記

คะเงะโรนิกกิ เป็นวรรณกรรมประเภทบันทึกเรื่องแรกที่เขียนโดยสตรี สันนิษฐานกันว่าเขียนหลังปี ค.ศ. 974 ผู้เขียนเป็นมารดาของขุนนางชื่อ ฟุจิวะระ โนะ มิชิท์ซุนะ(藤原道綱)เนื้อเรื่องเล่าถึงความขมขื่นที่ถูกสามี คือ ฟุจิวะระ โนะ คะเนะอิเอะ(藤原兼家)ทอดทิ้ง สะท้อนถึงสภาพสังคมในสมัยก่อนที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ผู้เขียนได้พรรณนาความทุกข์จากการที่สามีมีหญิงอื่น ผู้หญิงเปรียบเสมือนเครื่องมือของผู้ชาย นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงความเป็นอนิจจังของชีวิต ทุกสิ่งดำรงอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เหมือนกับชีวิตของแมลงเม่าหรือคะเงะโร(蜻蛉)ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบันทึกนี้

 

เนื้อเรื่องแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นเรื่องราวในช่วงระยะเวลาสิบห้าปีแรก เป็นการเล่าถึงความเป็นมาของผู้เขียนตั้งแต่ขุนนางชื่อคะเนะอิเอะมาขอแต่งงานทั้ง ๆ ที่มีภรรยาอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อการแต่งงานผ่านไป ชีวิตก็มิได้มีความสุขแต่อย่างใด เนื่องจากสามีไม่ค่อยมาหาและยังมีภรรยาใหม่อีกด้วย ช่วงที่สองเป็นเรื่องราวในช่วงระยะเวลาสามปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 969 ถึง ค.ศ. 971 เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับสามีเหินห่างออกไปพร้อมกับที่ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อว่า มิชิท์ซุนะ(道綱)ช่วงที่สามเป็นเรื่องราวในช่วงระยะเวลาสามปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 972 ถึง ค.ศ. 974 เป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้เขียนเฝ้าดูการเจริญเติบโตของบุตรชาย และได้รับเด็กสาวคนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมทั้งทำใจยอมรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

 

วรรณกรรมเรื่องนี้มีคุณค่าในฐานะวรรณกรรมประเภทบันทึกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดซึ่งเขียนขึ้นโดยสตรี และยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมร้อยแก้วที่ผู้แต่งเป็นสตรี ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่อง เก็นจิโมะโนะงะตะริ(源氏物語)นอกจากนั้นกลอนของผู้เขียนเรื่องนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในกลอนเฮียะกุนินอิซฌุ(百人一首)ในสมัยคะมะกุระ ซึ่งเป็นกลอนที่ปรากฏอยู่บนไพ่คะรุตะ(かるた)ของญี่ปุ่นด้วย

 

อรรถยา สุวรรณระดา

 

Read more