โคะกิงวะกะฌู 古今和歌集

โคะกิงวะกะฌูเป็นหนังสือรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่จักรพรรดิทรงโปรดฯ ให้รวบรวมขึ้นเป็นชิ้นแรกเมื่อปี ค.ศ.905 จักรพรรดิดะอิโงะ(醍醐天皇)ทรงโปรดเกล้าฯให้กวีสี่คนได้แก่ คิ โนะ ท์ซุระยุกิ(紀貫之)คิ โนะ โทะโมะโนะริ(紀友則)โอฌิโกชิ โนะ มิท์ซุเนะ(凡河内躬恒)และ มิบุ โนะ ทะดะมิเนะ(壬生忠岑)รวบรวมขึ้น มีทั้งหมด 20 เล่ม ประกอบด้วยบทกลอนทั้งสิ้น 1,111 บท ส่วนใหญ่เป็นประเภทกลอนสั้นหรือทังกะ(短歌)มีคำนำที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนหรือมะนะโจะ(真名序)โดยคิ โนะ โยะฌิโมะชิ(紀淑望)และคำนำที่เขียนด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นหรือคะนะโจะ(仮名序)โดยคิ โนะ ท์ซุระยุกิ ซึ่งคะนะโจะนี้ถือเป็นบทวิจารณ์วรรณคดีชิ้นแรกของญี่ปุ่น

 

บทกลอนในโคะกิงวะกะฌูแบ่งตามเนื้อหาได้ 13 หัวข้อดังนี้คือ หัวข้อเกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลิ 2 เล่ม ฤดูร้อน 1 เล่ม ฤดูใบไม้ร่วง 2 เล่ม ฤดูหนาว 1 เล่ม ความยินดี 1 เล่ม การพลัดพราก 1 เล่ม การเดินทาง 1 เล่ม ชื่อสิ่งต่างๆ 1 เล่ม ความรัก 5 เล่ม ความทุกข์ 1 เล่ม บทกลอนที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ 1 เล่ม เบ็ดเตล็ด 2 เล่ม และบทกลอนอื่นนอกเหนือจากทังกะอีก 1 เล่ม

 

บทกลอนในโคะกิงวะกะฌูแบ่งตามยุคสมัยของกลอนได้เป็น 3 ยุค คือ

 

(1) ยุคกวีนิรนาม อยู่ในช่วง ค.ศ.809-849 บทกลอนในยุคนี้ไม่ค่อยปรากฎชื่อผู้แต่ง มีประมาณ 450 บท เนื้อหาของกลอนให้ความรู้สึกที่ตรงไปตรงมาเหมือนบทกลอนในมันโยฌู

 

(2) ยุคกวีทั้งหก อยู่ในช่วง ค.ศ.850-890 ในยุคนี้เริ่มมีการใช้เทคนิคการประพันธ์ เช่น เอ็งโงะ(縁語 คำสัมพันธ์)และคะเกะโกะโตะบะ(掛詞 คำซ้อนทับพ้องเสียง)เนื้อหาของกลอนให้ความรู้สึกที่อ่อนโยน คิ โนะ ท์ซุระยุกิผู้รวบรวมโคะกิงวะกะฌูได้วิพากษ์วิจารณ์กวีทั้งหกในยุคนี้เอาไว้ด้วย กวีทั้งหกนี้ได้แก่ อะริวะระ โนะ นะริฮิระ(在原業平 ค.ศ.825-880) โซโจ เฮ็นโจ(僧正遍照(遍昭) ค.ศ.816-890)คิเซ็น โฮฌิ(僧喜撰 ไม่ทราบปีเกิดและตายที่แน่ชัด)โอโตะโมะ โนะ คุโระนุฌิ(大友黒主 ไม่ทราบปีเกิดและตายที่แน่ชัด)บุนยะ โนะ ยะซุฮิเดะ(文屋康秀 ไม่ทราบปีเกิดและตายที่แน่ชัด)และ โอโนะ โนะ โคะมะชิ(小野小町 ไม่ทราบปีเกิดและตายที่แน่ชัด)

 

(3) ยุคแห่งกวี อยู่ในช่วงประมาณปลายศตวรรษที่ 9 บทกลอนในยุคนี้มีการใช้เทคนิคต่าง ๆ มากขึ้นเช่น มิตะเตะ(見立て การมองเหมือน)และกิจินโฮ(擬人法 บุคลาธิษฐาน)เป็นต้น กวีที่สำคัญคือ คิโนะท์ซุระยุกิ บทกลอนมีความละเอียดอ่อน แสดงถึงไหวพริบของผู้แต่ง และแสดงออกถึงอารมณ์สะเทือนใจที่เรียกว่า โมะโนะ โนะ อะวะเระ(もののあはれ)บทกลอนยุคนี้มีจำนวนประมาณหนึ่งในห้าของบทกลอนทั้งหมดในโคะกิงวะกะฌู

 

บทกลอนในโคะกิงวะกะฌูมีลักษณะละเมียดละไมดุจสตรีเพศซึ่งเรียกลักษณะแบบนี้ว่า ทะโอะยะเมะบุริ(手弱女振り)ต่างจากบทกลอนในมันโยฌูที่มีลักษณะตรงไปตรงมา ดุจบุรุษเพศซึ่งเรียกลักษณะแบบนี้ว่า มะซุระโอะบุริ(益荒男振り)

 

อรรถยา สุวรรณระดา

Read more