ฌิงโกะกิงวะกะฌู 新古今和歌集

ฌิงโกะกิงวะกะฌูเป็นหนังสือรวบรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่จักรพรรดิโกะโตะบะ(後鳥羽院)ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1201 โดยทรงมอบหมายให้กวีห้าคนคือ ฟุจิวะระ โนะ ซะดะอิเอะ(藤原定家)ฟุจิวะระ โนะ อะริอิเอะ(藤原有家)ฟุจิวะระ โนะ อิเอะตะกะ(藤原家隆)ฟุจิวะระ โนะ มะซะท์ซุเนะ(藤原雅経)และมินะโมะโตะ โนะ มิชิโตะโมะ(源通具)เป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากรวบรวมเสร็จแล้วในปี ค.ศ.1205 จักรพรรดิโกะโตะบะยังทรงให้แก้ไขเพิ่มลดจำนวนบทกลอนสืบต่อเรื่อยมาจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นฌิงโกะกิงวะกะฌู โดยมีทั้งหมด 20 เล่ม มีบทกลอนทั้งสิ้นประมาณ 2,000 บทและเป็นกลอนสั้น(短歌)ทั้งหมด

 

ลักษณะเด่นของกลอนในฌิงโกะกินวะกะฌู คือ เมื่ออ่านแล้วจะทำให้เกิดภาพในจินตนาการเหมือนหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง กวีที่แต่งกลอนส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดของจักรพรรดิโกะโตะบะ เช่น ซะอิเงียว(西行)จิเอ็น(慈円)ฟุจิวะระ โนะ โทะฌินะริ(藤原俊成) เทคนิคการประพันธ์ที่เป็นลักษณะเด่น ได้แก่ ฮงกะโดะริ(本歌取)คือ การนำเอากลอนที่มีอยู่แล้วมาแต่งใหม่โดยคงเนื้อหาเดิมส่วนหนึ่งไว้แล้วปรับเปลี่ยนเนื้อหาอีกส่วนหนึ่ง และทะอิเง็นโดะเมะ(体言止)คือ การจบกลอนด้วยคำนามหรือสรรพนาม บทกลอนในฌิงโกะกินวะกะฌูมีความงามแบบลึกซึ้งน่าประทับใจที่เรียกกันว่า “อุฌิน”(有心)นอกจากนี้ฌิงโกะกินวะกะฌูยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามของหนังสือรวมบทกลอนที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ซันดะอิวะกะฌู(三大和歌集)ร่วมกับ มันโยฌู(万葉集)และ โคะกิงวะกะฌู(古今和歌集)

 

อรรถยา สุวรรณระดา

Read more