กลอนญี่ปุ่น 和歌

กลอนญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนาราโดยพัฒนามาจากบทเพลงพื้นบ้านของญี่ปุ่นหรือคะโย(歌謡)หนังสือรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดคือ มันโยฌู(万葉集)ซึ่งรวบรวมบทกลอนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 5 จนถึงกลางศตวรรษที่ 8 โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงกลอนญี่ปุ่นมักจะหมายถึงกลอนประเภททังกะ(短歌)ซึ่งเป็นกลอนสั้นมีทั้งหมด 31 พยางค์

 

รูปแบบฉันทลักษณ์ของกลอนญี่ปุ่นที่ควรรู้จัก ได้แก่

(1) ทังกะ(短歌)ในหนึ่งบทมีห้าวรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรคคือ 5 7 5 7 7 รวมเป็น 31 พยางค์

(2) โชกะ(長歌)เป็นกลอนยาวไม่กำหนดจำนวนวรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรคคือ 5 7 5 7สลับกันไปเรื่อย ๆ และจบด้วย 5 7 7

(3) เซะโดกะ(旋頭歌)ในหนึ่งบทมีหกวรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรคคือ 5 7 7 5 7 7 รวมเป็น 38 พยางค์

(4) บุซโซะกุเซะกิกะ(仏足石歌)ในหนึ่งบทมีหกวรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรคคือ 5 7 5 7 7 7รวมเป็น 38 พยางค์

 

เทคนิคการประพันธ์กลอนญี่ปุ่นที่พบบ่อย ได้แก่

 

(1) มะกุระโกะโตะบะ(枕詞)คือการนำคำหรือวลีที่มีจำนวนห้าพยางค์ซึ่งได้มีการกำหนดเอาไว้แน่นอนมาวางไว้ข้างหน้าคำหรือวลีใด ๆ ในกลอนโดยมีจุดประสงค์เพื่อประดับกลอนให้ไพเราะสวยงาม และยังช่วยในการขยายความหมายในกลอนอีกด้วย เช่น อะฌิฮิกิโนะ(あしひきの)จะใช้เกริ่นนำถึงภูเขา(山)ฮิซะกะตะโนะ(ひさかたの)จะใช้เกริ่นนำถึงแสง(光)เป็นต้น

(2) โจะโกะโตะบะ(序詞)คือการนำคำหรือวลีหนึ่ง ๆ โดยไม่ได้จำกัดความยาวมากล่าวนำคำหรือวลีใด ๆ ในกลอนเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ จินตนาการรวมทั้งสามารถเข้าใจความหมายของบทกลอนได้อย่างชัดเจน

(3) ท์ซุอิกุ(対句)คือการนำคำหรือวลีที่คล้ายกันมาจัดเรียงซ้อนกันเพื่อให้เกิดจังหวะที่ไพเราะและยังช่วยเน้นความหมายอีกด้วย

(4) เอ็งโงะ(縁語)คือคำที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางความหมายอย่างลึกซึ้งกับคำหลัก เช่น คำว่า つゆ(น้ำค้าง)กับ 消える(เหือดหายไป)หรือคำว่า 雨(ฝน)กับ 降る(ตก)

(5) คะเกะโกะโตะบะ(掛詞)คือคำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่ความหมายต่างกัน(คำพ้องเสียง)เช่น อะกิ(秋)ที่แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง กับ อะกิ(飽き)ที่แปลว่า เบื่อ หรือ นะกิ(無き)ที่แปลว่า ไม่มี กับนะกิ(泣き)ที่แปลว่า ร้องไห้

(6) มิตะเตะ(見立て)คือการเปรียบสิ่งหนึ่งที่มองเห็นว่าคล้ายกับอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เห็นหิมะเป็นดอกไม้สีขาว

(7) กิจินโฮ(擬人法)คือการทำให้สิ่งที่ไม่ใช่บุคคลให้มีลักษณะเหมือนบุคคล(บุคลาธิษฐาน)เช่น การให้ต้นไม้มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน

ในสมัยเฮอันมีหนังสือรวมบทกลอนญี่ปุ่นมากมาย หนังสือรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่จักรพรรดิทรงโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมขึ้นเรียกว่า “โชะกุเซ็งวะกะฌู”(勅撰和歌集)และในบรรดาหนังสือรวมกลอนประเภทนี้ ผลงานที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ หนังสือรวมกลอน โคะกิงวะกะฌู (古今和歌集)ส่วนหนังสือรวมกลอนที่กวีเอาบทกลอนที่ตนแต่งขึ้นเองมารวบรวมไว้เป็นเล่มเรียกว่า “ฌิกะฌู”(私家集)นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันประชันกลอนญี่ปุ่นกันซึ่งพบมากในสมัยเฮอันเรียกว่า “อุตะอะวะเซะ”(歌合) 

 

ในสมัยเฮอันกลอนญี่ปุ่นมีการพัฒนาจนเกิดกลอนเร็งงะ(連歌)ขึ้น กลอนเร็งงะคือบทกลอนประเภททังกะที่มีผู้แต่งตั้งแต่สองคนขึ้นไปแต่งกลอนรับต่อกัน โดยคนแรกจะแต่งสามวรรคแรกซึ่งมีจำนวนพยางค์เป็น 5 7 5 ส่วนคนที่สองจะแต่งสองวรรคหลังซึ่งมีจำนวนพยางค์เป็น 7 7 จึงจะครบหนึ่งบท เรียกว่า “ทันเร็งงะ” (短連歌)หากมีคนที่สามแต่งกลอนบทที่สองต่อโดยเริ่มสามวรรคแรกคือ 5 7 5 และคนที่สี่แต่งสองวรรคหลังต่อคือ 7 7 ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จะเรียกกลอนเร็งกะประเภทนี้ว่า “คุซะริเร็งงะ” (鎖連歌)หรือ เร็งงะลูกโซ่ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยคะมะกุระ-มุโระมะชิ

 

เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะได้มีการตัดจำนวนพยางค์ในกลอนออกเหลือเพียงแค่สามวรรคแรกคือ 5 7 5 ทำให้กลอนหนึ่งบทมีเพียงแค่ 17 พยางค์ กลอนชนิดนี้เรียกว่ากลอนไฮไก(俳諧)ซึ่งแม้จะมีจำนวนพยางค์น้อยแต่แฝงความหมายกว้างไกลและมักจะมีคำแสดงฤดูกาล(季語)ในกลอน กวีที่มีชื่อเสียงด้านกลอนไฮไก ได้แก่ มะท์ซุโอะ บะโฌ(松尾芭蕉)โคะบะยะฌิ อิซซะ(小林一茶)โยะซะ บุซน(与謝蕪村)เป็นต้น ต่อมาในสมัยเมจิ กวีชื่อ มะซะโอกะ ฌิกิ(正岡子規)ได้เปลี่ยนคำเรียกกลอนประเภทนี้เป็น “ไฮกุ”(俳句)ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน 

 

อรรถยา สุวรรณระดา

Read more