ฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิ(二葉亭四迷, ค.ศ. 1864-1909)

ฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิ เป็นนักเขียนและนักแปลคนสำคัญในสมัยเมจิของญี่ปุ่นและได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ งานเขียนของเขานั้นแสดงให้เห็นถึงแนวคิดแบบสัจนิยม ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นที่เริ่มได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก งานเขียนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่เรื่องแรกของญี่ปุ่น ได้แก่ เรื่อง เมฆลอย หรือ “อุกิงุโมะ”(浮雲)ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1887

 

ฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิ เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1864 ที่เมืองเอะโดะ ชื่อจริงคือ ฮะเซะงะวะ ทะท์ซุโนะซุเกะ(長谷川辰之助)ศึกษาด้านวรรณคดีรัสเซียที่โรงเรียนภาษาแห่งโตเกียว(東京外国語学校)ด้วยความสามารถด้านภาษารัสเซียของเขาทำให้ ท์ซุโบะอุชิ โฌโย(坪内逍遙)นักเขียนที่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้นรู้สึกสนใจและชี้แนะแนวทางการเขียนให้กับเขา ต่อมาฟุตะบะเตะอิจึงเขียนงานที่ชื่อว่า ทฤษฎีนวนิยาย หรือ โฌเซะท์ซุ โซรน(小説総論)ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีเมจิที่ 19(ค.ศ. 1886)ทฤษฎีนวนิยายเป็นงานเขียนว่าด้วยทฤษฎีและหลักการของนวนิยายโดยทั่ว ๆ ไปโดยสังเขป กล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการต่อยอดงานเขียนของ ท์ซุโบะอุชิ โฌโย ผู้เป็นอาจารย์ทางวรรณกรรมของฟุตะบะเตะอิ ที่รังสรรค์ผลงานทฤษฎีนวนิยายของญี่ปุ่นเล่มแรกที่ชื่อ สาระสำคัญของนวนิยาย หรือ โฌเซะท์ซุ ฌินสุอิ(小説神髄)นอกจากนี้ ฟุตะบะเตะอิยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักแปลวรรณกรรมภาษารัสเซียอีกด้วย

 

ฟุตะบะเตะอิเกิดมาในครอบครัวข้าราชการทำให้เขาไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเรียนวรรณคดีจากบิดาเท่าไรนัก แต่ด้วยพรสวรรค์ด้านการเขียนและเนื้อหาที่ฟุตะบะเตะอินำเสนอนั้นตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี กล่าวคือฟุตะบะเตะอิเกิดในยุคเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นอันได้แก่การปฏิรูปเมจิในปี ค.ศ. 1868 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตกและอิทธิพลของชาติตะวันตกได้เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ฟุตะบะเตะอิได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศญี่ปุ่นนี้มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเขียน ทำให้นวนิยายของเขาสามารถสื่ออารมณ์ของผู้คนและสะท้อนความเป็นไปในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เป็นอย่างดี โดยผลงานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ชัดเจนและทำให้ชื่อของฟุตะบะเตะอิเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้แก่ นวนิยายเรื่อง เมฆลอย นั่นเอง ฟุตะบะเตะอิรังสรรค์ผลงานจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1909

 

เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์

Read more