เฮะอิเกะโมะโนะงะตะริ 平家物語

เฮะอิเกะโมะโนะงะตะริเป็นวรรณกรรมเอกประเภทนิยายสงครามของญี่ปุ่น ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวช่วงกลางศตรรษที่13 มีเนื้อเรื่องบรรยายถึงการสู้รบระหว่างตระกูลทะอิระ(平)กับตระกูลมินะโมะโตะ(源)ในตอนปลายสมัยเฮอัน(平安่)และจบลงที่ความพ่ายแพ้ของพวกทะอิระ และมินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ(源頼朝)ผู้นำฝ่ายมินะโมะโตะผู้ชนะได้ไปก่อตั้งรัฐบาลทหารขึ้นที่คะมะกุระ(鎌倉)อันเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยคะมะกุระ(鎌倉, ค.ศ.1192-1603)เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ในเรื่องบรรยายถึงความเจริญรุ่งเรืองและการล่มสลายของตระกูลทะอิระหรือเฮะอิเกะ(平家)ที่นำโดยทะอิระ โนะ คิโยะโมะริ(平清盛 ค.ศ.1118-1181)นักรบจากหัวเมืองที่เข้ามามีชื่อเสียงเมื่อปราบพวกฟุจิวะระ โนะ มิชิโนะริ(藤原通)ได้และเข้ามารับใช้จักรพรรดิโกะฌิระกะวะ(後白河法皇)ในเมืองหลวง ตระกูลทะอิระเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อคิโยะโมะริมีตำแหน่งสูงสุดทางการปกครอง และบุตรสาวยังได้เป็นพระมเหสีของจักรพรรดิ สมาชิกในตระกูลดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ มีอำนาจครอบคลุมไปทั่วอาณาจักร แต่เมื่อคิโยะโมะริเสียชีวิตลง ตระกูลทะอิระก็ตกต่ำ ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ตระกูลมินะโมะโตะ สมาชิกในตระกูลเสียชีวิตเกือบทั้งหมด รวมถึงจักรพรรดิอันโตะกุ(安徳天皇)ซึ่งเป็นหลานที่มีอายุเพียง 8 ขวบในการรบที่ดันโนะอุระ(壇ノ浦)

 

นอกจากทะอิระ โนะ คิโยะโมะริ แล้วเรื่องนี้ยังมีตัวละครเอกอีก 2 คนคือคิโซะ โยะฌินะกะ(木曽義仲)และมินะโมะโตะ โนะ โยะฌิท์ซุเนะ(源義経)คิโซะ โยะฌินะกะ เป็นขุนพลบ้านนอกที่ได้รับบัญชาจากเจ้าชายโมะชิฮิโตะ(以仁王)ให้เข้ามาปราบพวกทะอิระและได้เข้ามายึดครองมีอำนาจอยู่ในเมืองหลวงชั่วขณะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พวกมินะโมะโตะ ส่วนมินะโมะโตะ โนะ โยะฌิท์ซุเนะเป็นน้องชายต่างมารดาของมินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะผู้นำทางฝ่ายมินะโมะโตะ โยะฌิท์ซุเนะเป็นขุนพลร่างเล็กที่แกล้วกล้า มีความสามารถในการรบได้ชัยชนะมาตลอด จนสามารถปราบพวกทะอิระลงได้โดยเด็ดขาด แต่จากการที่คนอื่นใส่ร้ายด้วยความอิจฉาในความสามารถทำให้ถูกกลั่นแกล้ง และจบชีวิตลงในที่สุดด้วยวัยเพียง 29 ปี

 

เฮะอิเกะโมะโนะงะตะริเป็นนิยายสงครามที่นอกจากจะบรรยายวีรกรรมการสู้รบอันห้าวหาญได้อย่างสมจริงด้วยภาษาร้อยแก้วที่สละสลวยและมีท่วงทำนองที่ไพเราะ ให้ความรู้สึกราวกับอ่านวรรณกรรมร้อยกรองแล้ว ยังสะท้อนหลักคิดทางศาสนาพุทธเรื่องอนิจจังและกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ตลอดจนปรัชญาขงจื๊อที่เกี่ยวกับความคิดทางการเมืองและหน้าที่ของนักรบอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากบทเริ่มต้นเรื่องที่กล่าวถึงระฆังที่วัดกิอน(祇園精舎)ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรคทองที่มีท่วงทำนองไพเราะ สะท้อนให้เห็นถึงกฎธรรมชาติและความเป็นอนิจจัง ดังนี้

 

“เสียงระฆังของศาลเจ้ากิอนดังกังวาน บ่งชี้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ สีของดอกสาละซึ่งกล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานใต้ต้นไม้นั้น แสดงถึงสัจธรรมที่ว่า ผู้รุ่งเรืองสักวันก็มีอันจะต้องตกอับ ผู้ที่เจริญรุ่งเรืองไม่สามารถที่จะคงอยู่ในสภาพเช่นนั้นตลอดไปได้ เปรียบคล้ายกับความฝันในยามค่ำคืนแห่งฤดูใบไม้ผลิ แม้แต่ผู้ที่องอาจกล้าหาญ สักวันก็จะต้องเสื่อมพลังอำนาจลง เปรียบดังกับฝุ่นละอองเมื่อยามต้องลม” (อรรถยา สุวรรณระดา ประวัติวรรณคดีญี่ปุ่น หน้า119)

 

จึงอาจกล่าวได้ว่าเฮะอิเกะโมะโนะงะตะริเป็นวรรณกรรมสงครามที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลกของวรรณกรรมญี่ปุ่น

 

กัลยาณี สีตสุวรรณ

Read more