ยุกิงุนิ หรือ เมืองหิมะ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลของคะวะบะตะ ยะสุนะริ นวนิยายส่วนแรกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 จากนั้นคะวะบะตะจึงค่อย ๆ แต่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1948 นวนิยายเรื่องนี้มีตัวละครเอกที่ชื่อว่า “ฌิมะมุระ”(島村)เขาเป็นหนุ่มเจ้าสำราญชาวโตเกียวที่ผู้เขียนไม่ระบุว่ามีอาชีพอะไร แต่ฌิมะมุระมักสนใจในการแสวงหาความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างความพอใจให้กับตนเอง ปัจจุบันเขาสนใจการค้นคว้าเกี่ยวกับบัลเล่ต์และได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยที่เขาเองไม่เคยได้ดูการแสดงบัลเล่ต์จริง ๆ สักครั้ง ฌิมะมุระเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวันจึงเดินทางไปเที่ยวเมืองหิมะโดยรถไฟในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นครั้งที่สอง บนรถไฟเขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังปรนนิบัติชายผู้หนึ่งซึ่งกำลังป่วยราวกับเป็นสามีภรรยา หญิงคนนั้นชื่อว่า “โยโกะ” ชายผู้ป่วยชื่อ “ยุกิโอะ” ฌิมะมุระได้แต่จ้องมองความงามของหญิงสาวผ่านเงาสะท้อนจากกระจกหน้าต่างรถไฟด้วยความตกตะลึงในความงามของดวงตา ผิวพรรณและกิริยาที่งดงามอ่อนโยน ภาพความงามราวหิมะของโยโกะทำให้เขานึกถึงความทรงจำที่มีต่อ “โคะมะโกะ” หญิงงามคนหนึ่งในเมืองหิมะที่เขาเคยไปพบเมื่อห้าเดือนก่อนและเป็นคนเดียวกันกับที่กำลังจะไปพบในครั้งนี้
เมื่อมาถึงเมืองหิมะฌิมะมุระได้ถามหา “โคะมะโกะ” เกอิชาสมัครเล่นที่เคยมาปรนนิบัติเขาในครั้งก่อน แล้วเขาก็ได้พบเธอ ปัจจุบันโคะมะโกะพักอยู่กับครูที่สอนดนตรี และฌิมะมุระยังได้รู้อีกว่าบุตรชายของครูดนตรีเดินทางกลับมาพักฟื้น ซึ่งก็คือยุกิโอะคนป่วยที่เขาพบบนรถไฟนั่นเอง ทำให้เขานึกข้องใจว่าสาวน้อยผู้อ่อนโยนบนรถไฟนั้นเกี่ยวข้องกับลูกชายครูดนตรีอย่างไร
ครั้งแรกที่ฌิมะมุระได้พบกับโคะมะโกะคือฤดูใบไม้ผลิเมื่อครึ่งปีก่อน โคะมะโกะเกอิชาสมัครเล่น วัย 19 ปีก็ถูกส่งมาพบเขา ความเป็นสาวน้อยบริสุทธิ์ไร้มลทินของเธอทำให้ฌิมะมุระประทับใจในความสะอาดบริสุทธิ์และความมีชีวิตชีวาซึ่งเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะพบหญิงสาวเช่นนี้ได้ในเมืองหิมะแห่งนี้ ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันทั้งที่ฌิมะมุระยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเธอมากนัก
ในการมาเยือนเป็นครั้งที่สอง โคะมะโกะเกอิชาสมัครเล่นที่เขาได้พบในครั้งก่อนได้กลายมาเป็นเกอิชาเต็มตัวเสียแล้วเพื่อหาเงินไปรักษายุกิโอะลูกชายของครูสอนดนตรีซึ่งเป็นคู่หมั้นของเธอ ในวันที่เขาตัดสินใจกลับโตเกียว โคะมะโกะอาสาไปส่งเขาที่สถานีรถไฟ พอดีกับที่โยโกะวิ่งมาตามโคะมะโกะให้ไปดูใจยุกิโอะซึ่งกำลังเจ็บหนักใกล้ตาย แต่โคะมะโกะปฏิเสธโดยอ้างว่าต้องไปส่งฌิมะมุระซึ่งเป็นแขกของเธอขึ้นรถไฟเสียก่อน ส่วนฌิมะมุระก็ขึ้นรถไฟกลับโตเกียวไป
ในฤดูใบไม้ร่วงราวสองปีต่อมา ฌิมะมุระก็ได้มาที่เมืองหิมะอีกเป็นครั้งที่สาม เขาได้พบทั้งโคะมะโกะและโยโกะอีก และได้ทราบว่ายุกิโอะตายแล้วและโยโกะก็ไปที่สุสานเขาทุกวัน เขายังรู้อีกว่าโยโกะมาช่วยงานในโรงแรมที่เขาพักอยู่ ส่วนโคะมะโกะย้ายไปเช่าห้องอยู่ที่ร้านขายของเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งและได้ทำสัญญาเป็นเกอิชาที่นั่นสี่ปี ฌิมะมุระได้เห็นภาพแห่งชีวิตที่ได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านน้ำพุร้อน อันได้แก่ความเปลี่ยนแปลงของโคะมะโกะ จากสาวน้อยบริสุทธิ์กลายเป็นหญิงที่เจนจัดโลก ยิ่งเมื่อเขาได้เห็นการดำเนินชีวิตของโคะมะโกะอย่างยากลำบากก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงความว่างเปล่า เขาจึงตัดสินใจว่าจะไม่กลับมาที่นี่อีก ในระหว่างนี้เขามีโอกาสได้พูดคุยกับโยโกะบ่อยขึ้นจึงได้รู้ว่าเธอมีความรักอันมั่นคงแก่ยุกิโอะ แล้วฌิมะมุระก็ถูกดึงดูดด้วยความงามแบบพิเศษของเธอ เขาเริ่มสนใจในตัวเธอมากขึ้น
เมื่อเขากลับมายังหมู่บ้านน้ำพุร้อนและได้พบกับโคะมะโกะ ทันใดนั้นสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ก็ดังขึ้น ทั้งสองจึงวิ่งไปดูไฟไหม้ที่โกดังเก็บไหม ระหว่างทางพวกเขามองเห็นทางช้างเผือก ฌิมะมุระรู้สึกว่าเขากำลังจะพรากจากโคะมะโกะไปในไม่ช้า เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุร่างของหญิงสาวคนหนึ่งได้ตกมาจากโกดังเก็บไหม ซึ่งร่างนั้นก็คือโยโกะนั่นเอง โคะมะโกะวิ่งเข้าไปกอดร่างของโยโกะซึ่งอยู่ในสภาพหมดสตินอนนิ่งไม่ไหวติง ภาพหิมะที่ขาวบริสุทธิ์กลายเป็นโคลนเหลวสกปรกเพราะถูกเหยียบย่ำจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นฌิมะมุระมองเห็นทางช้างเผือกกำลังเคลื่อนตัวต่ำลงเป็นสัญญาณว่าเวลาจากกันมาถึงแล้ว
คะวะบะตะสร้างให้ตัวละครเอก “ฌิมะมุระ” เป็นตัวแทนของผู้ที่เอาแต่ไขว่คว้าหาสิ่งใหม่ ๆ ที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองพอใจอยู่เรื่อยไป ในที่สุดแล้วเขาก็ได้พบว่า ทุกสิ่งไม่จีรัง แท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนว่างเปล่า และต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด คะวะบะตะได้นำความงามในแบบญี่ปุ่นเข้ามาถักทอผสมผสานกับแนวการเขียนแบบนีโอเพอร์เซ็บชั่นนิสต์ในงานเขียนชิ้นนี้ การที่คะวะบะตะใช้ความงามของธรรมชาติตามแบบญี่ปุ่น เช่น ฤดูทั้งสี่ การบรรยายธรรมชาติที่ละเอียดและงดงามทางความรู้สึก หรือศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น เกอิชา การทอผ้า กิโมโน บ่อน้ำพุร้อน เป็นต้น ทำให้งานเขียนของเป็นงานที่มีความงดงามทางด้านศิลปะการเขียนแบบญี่ปุ่น และมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นกว่านักเขียนคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน และสิ่งนี้ทำให้มีนักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คะวะบะตะ ยะซุนะริได้รับรางวัลโนเบลเป็นคนแรกของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์