คะวะบะตะ ยะซุะนะริ(川端康成, ค.ศ. 1899-1972)

คะวะบะตะ ยะซุนะริ เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากนวนิยายเรื่อง ยุกิงุนิ(雪国)หรือ เมืองหิมะ ในปี ค.ศ. 1968 คะวะบะตะเกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1899 ในหมู่บ้านชาวนาเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองโอซาก้าและเกียวโต ครอบครัวของคะวะบะตะมีฐานะยากจน มีหนี้สินมากมาย อีกทั้งคนในครอบครัวยังป่วยเป็นโรคร้ายจนเสียชีวิตไปทีละคน เริ่มจากบิดาของเขาป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตเมื่อเขาอายุเพียงสองขวบ ปีต่อมามารดาของเขาก็เสียชีวิตด้วยวัณโรคเช่นเดียวกัน น้าของเขาจึงได้รับพี่สาวไปอุปการะ ส่วนตัวเขาไปอาศัยอยู่กับปู่ย่าที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในโอซาก้า เรียกได้ว่าชีวิตของเขาเติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติ

 

คะวะบะตะ ยะซุนะริ ได้เข้าศึกษาชั้นประถมที่โทะโยะกะวะมุระ(豊川村)เมื่ออายุครบเจ็ดปี และในปีเดียวกันนี้ย่าของเขาก็ได้ตายจากไป จากนั้นเมื่อเขาอายุได้สิบปี โยะฌิโกะพี่สาวซึ่งป้าได้รับไปเลี้ยงก็ป่วยและเสียชีวิตไปอีกคน คะวะบะตะจึงเหลือเพียงแค่ปู่คนเดียวเท่านั้น ความว้าเหว่ที่เกาะกินใจนี้ทำให้คะวะบะตะยึดหนังสือเป็นที่พึ่ง เขาอ่านหนังสือแทบจะทุกเล่มในห้องสมุดของโรงเรียน และยังประทับใจในเสียงดนตรีและจังหวะของภาษาโบราณอีกด้วย นอกจากนี้เขายังมีความสามารถในการวาดภาพและการเขียน เริ่มตั้งแต่การเขียนบทกวีและความเรียงสั้น ๆ โดยยึดเอาบทกวีของฌิมะสะกิ โทซน(島崎藤村)เป็นต้นแบบ

 

ในปี ค.ศ. 1912 คะวะบะตะเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมที่โรงเรียนอิบะระกิ(茨木)ในเมืองโอซากา ช่วงนี้เขาได้อ่านวารสารทางด้านวรรณคดีวิจารณ์ต่าง ๆ ทำให้เขาเปลี่ยนความตั้งใจจากที่เคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นจิตรกรมาเป็นนักเขียนนวนิยายแทน

 

ในปี ค.ศ. 1914 เมื่อเขาอายุ 15 ปี ปู่ก็ตายจากไปอีกคน ในระหว่างที่คะวะบะตะดูแลปู่ เขาได้เขียนบันทึกเรื่องราวของตัวเองสองเรื่องคือ “จูโระกุซะอิ โนะ นิกกิ”(十六歳の日記)หรือ “บันทึกตอนอายุ 16 ปี” และ “โฮเนะ บิโระอิ”(骨拾ひ)หรือ “เก็บกระดูก” ทั้งสองเรื่องนี้เขียนเก็บเอาไว้หลายปีแล้วจึงนำออกมาตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1925 และ 1949 ตามลำดับ ผลงานสองเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเศร้าของคะวะบะตะที่ชีวิตต้องพบกับความพลัดพรากมาตั้งแต่วัยเด็ก

 

เมื่อปู่เสียชีวิตลง ลุงก็มารับคะวะบะตะไปเลี้ยง แต่ปีถัดมาเขาย้ายเข้าไปอยู่ในหอพักของโรงเรียน และใช้ชีวิตในหอพักจนจบมัธยมต้นที่อิบะระกิ หลังจากนั้นได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนดะอิอิชิโกโต(第一高等)ในสาขาวรรณคดีอังกฤษ หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย คะวะบะตะได้เข้าศึกษาต่อที่ภาควิชาวรรณคดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว(東京大学)ในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 21 ปี เขาได้รวมกลุ่มกับเพื่อนในชั้นเดียวกันทำวารสารทางวรรณกรรมที่มีชื่อว่า ฌินฌิโช(新思潮)ทำให้เขาได้รู้จักและได้รับคำชี้แนะจาก คิกุชิ คัน(菊池寛)นักเขียนผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น

 

ในปี ค.ศ. 1922 คะวะบะตะได้เริ่มแปลหนังสือ เขาได้แปลงานของนักเขียนชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงคือ กอลเวิร์ธ(Galworth)และเชคอฟ(Chekhov)แล้วนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ และเริ่มเขียนบทวิจารณ์วรรณคดีลงในวารสารเป็นตอน ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ในปี ค.ศ. 1923 คะวะบะตะ ยะซุนะริได้รังสรรค์เรื่องสั้นเรื่อง “คะอิโซ โนะ เมะอิจิน”(会葬の名人)ลงตีพิมพ์ในในวารสาร บุงเงะอิฌุนจู(文芸春秋)ซึ่งเรื่องนี้ต่อมาคะวะบะตะเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “โซฌิกิ โนะ เมะอิจิน”(葬式の名人)หลังจากนั้นได้เขียนเรื่อง “นันโป โนะ ฮิ”(南方の火)หรือ “ไฟใต้” ลงตีพิมพ์ในวารสาร ฌินฌิโช

 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 คะวะบะตะได้รวมกลุ่มกับเพื่อนนักเขียนหน้าใหม่ออกวารสารทางวรรณกรรมชื่อ บุงเงะอิจิดะอิ(文芸時代)และจัดตั้งกลุ่มนักเขียนแนวนีโอเพอร์เซ็บชั่นนิสต์(Neo Perceptionist)หรือ กลุ่มอารมณ์ความรู้สึกแนวใหม่ขึ้น แนวการเขียนนี้มุ่งเสนอการเขียนแบบใหม่ที่เน้นอารมณ์และการสัมผัสรับรู้และคะวะบะตะได้นำความเป็นญี่ปุ่นเข้ามาผสมผสานลงไปในงานเขียน

 

คะวะบะตะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวในปี ค.ศ. 1924 และตัดสินใจอยู่กินกับมะท์ซุบะยะฌิ ฮิเดะโกะโดยที่ไม่ได้จัดงานแต่งงานเมื่ออายุ 27 ปี และเมื่อคะวะบะตะอายุได้ 44 ปี เขากับภรรยาก็รับลูกหลานซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายแม่มาเลี้ยงเป็นบุตรสาวบุญธรรม เนื่องจากคะวะบะตะตั้งใจว่าจะไม่ยอมมีบุตรของตนเองเพราะเกรงว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับตนแล้ว ลูกจะกลายเป็นเด็กกำพร้าต้องเผชิญชีวิตอย่างอ้างว้างอย่างที่ตัวเองประสบมาก่อน

 

คะวะบะตะให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของมนุษย์โดยพินิจพิจารณาศึกษาอารมณ์รับรู้ภายใน งานเขียนชิ้นสำคัญของเขามักเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงการค้นหาสิ่งที่งดงามบริสุทธิ์แห่งชีวิต นอกจากนั้น เขายังได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเก็บภาพชีวิตของคนที่ประสบกับความทุกข์และความอนิจจัง เขาเก็บภาพต่าง ๆ ที่ได้พบเจอไว้ในความทรงจำแล้วจึงเลือกแต่ละภาพออกมาถ่ายทอดให้เห็นความงามในผลงานวรรณกรรม ผลงานที่มีชื่อเสียงของคะวะบะตะ เช่น นวนิยายเรื่อง อิสุ โนะ โอะโดะริโกะ(伊豆の踊子)หรือ นางระบำอิสุ (ค.ศ. 1918) นวนิยายเรื่อง ยุกิงุนิ หรือ เมืองหิมะ(ค.ศ. 1948)และนวนิยายเรื่อง เซ็มบะท์ซุรุ(千羽鶴)หรือ นกกระเรียนพันตัว(ค.ศ. 1952)

 

คะวะบะตะเสียชีวิตลงในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1972 โดยการทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการเปิดแก๊สรมตัวเองในห้องพักโดยไม่ได้ทิ้งจดหมายใด ๆ เอาไว้เลย

 

เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์

Read more