โดโย หมายถึง เพลงเด็กของญี่ปุ่น เป็นเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อร้องให้เด็ก ๆ ฟังหรือให้เด็ก ๆ ร้องเล่นตั้งแต่ปลายสมัยทะอิโฌ(ค.ศ. 1912-1926)แม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักและร้องกันอยู่ คำว่า “โดโย” ปรากฏครั้งแรกในกลอนที่ประพันธ์โดย นะท์ซุเมะ โซเซะกิ(夏目漱石, ค.ศ. 1867-1916)นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ในนิตยสารชื่อ โฮะโตะโตะกิซุ(ホトトギス)ฉบับเดือนมกราคม ปีเมจิ 38(ค.ศ. 1905)แต่เดิมเรียกเพลงร้องประกอบการละเล่นของเด็กว่า วะระเบะอุตะ(わらべうた)และเรียกเพลงที่ร้องเพื่อกล่อมเด็กว่า โคะโมะริอุตะ(子守唄)เพลงเด็กอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า โฌกะ(唱歌)เป็นเพลงที่ทางราชการรวบรวมไว้เพื่อเป็นตำราสำหรับสอนเด็กตั้งแต่สมัยเมจิ(ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1881)ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่นำทำนองมาจากเพลงเด็กของต่างประเทศแล้วแต่งเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่น เช่น เพลงแสงของหิ่งห้อยหรือโฮะตะรุ โนะ ฮิกะริ(蛍の光)เมื่อปี ค.ศ. 1918 เกิดนิตยสารสำหรับเด็กชื่อ อะกะอิโตะริ(赤い鳥)มีนักเขียนวรรณกรรมเด็กมากมายสร้างสรรค์ผลงานเพลงสำหรับเด็กและตีพิมพ์เผยแพร่จนมีโดโยที่ทรงคุณค่าเป็นที่รู้จักดีจนถึงทุกวันนี้มากมาย เช่น คะนะริยะ(かなりや)แมงปอสีแดง หรือ อะกะตมโบะ(赤とんぼ)ลูกกาเจ็ดตัว หรือ นะนะท์ซุ โนะ โกะ(七つの子)แม้ว่าช่วงสงครามเพลงเด็กจะมีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ ให้ความสำคัญกับทหาร แต่หลังสงครามยุติ มีกวีและนักแต่งเพลงได้ให้ความสนใจกับโดโยอีกครั้ง จึงเกิดเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน เนื้อหาสื่อความรักของครอบครัว เช่น เพลงช้าง หรือ โสซัง(ぞうさん, 1948)คุณตำรวจหมา หรือ อินุ โนะ โอะมะวะริซัง(犬のおまわりさん, 1960)ของเล่นชะชะช่า หรือ โอะโมะชะ โนะ ชะชะชะ(おもちゃのチャチャチャ, 1963)ปัจจุบันโดโยได้แพร่หลายไปอย่างมากโดยมีการรวมโดโยยอดนิยมเป็น CD และ DVD ตลอดจนนำไปร้องในโรงเรียนอนุบาล รวมถึงใช้ประกอบในรายการสำหรับเยาวชนทางโทรทัศน์และวิทยุทั่วไปอีกด้วย
ภัทร์อร พิพัฒนกุล
รายการอ้างอิง
千葉優子(2007)『ドレミを選んだ日本人』音楽之友社
藤原千芳恵(1998)「童謡の変遷について」国際学院埼玉短期大学・卒業研究論文