โอะกินะ เป็นชื่อเรียกการร่ายรำอย่างหนึ่งของละครโน(能)คือ ละครโนจะประกอบด้วยบทละครโน 5 ประเภท และ โอะกินะ ซึ่งแปลว่า “ชายชรา” โดยถือว่าโอะกินะเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในระดับเดียวกับโนเรื่องอื่นทั้งหมด มีคำกล่าวว่าโอะกินะ “เป็นโน และ ไม่เป็นโน” แท้จริงแล้ว โอะกินะเป็นพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมีอยู่ก่อนละครโนเสียอีก ทั้งการแสดงและการชมโอะกินะ จะกระทำด้วยความรู้สึกอย่างแรงกล้าในการอุทิศตนให้แก่ศาสนา
โอะกินะ ไม่มีเนื้อเรื่องหรือกวีนิพนธ์ที่สละสลวย บางตอนก็ดูจะไม่สามารถหาความหมายได้ การแสดงนี้เป็นเพียงการสวดของชายชราผู้หนึ่งซึ่งขณะร่ายรำและขับร้องได้ประสาทพรให้ทั้งจักรพรรดิ และไพร่ฟ้าประสบความเจริญรุ่งเรือง ในปัจจุบันจะมีการแสดงนี้เฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น วันขึ้นปีใหม่ โดยแสดงเป็นอันดับแรกของรายการแสดงในวันนั้น แต่ในสมัยโบราณจะมีการแสดงโอะกินะในตอนต้นรายการด้วยทุกครั้งไป ประเพณีนี้ยังคงรักษาไว้ในการแสดงหุ่นที่มีต้นกำเนิดมาจากสมัยโบราณ โดยมีการแสดงการร่ายรำชุดที่เรียกว่า ซัมบะโซ(三番叟)จากโอะกินะก่อนม่านจะเปิด
โอะกินะมีลักษณะเฉพาะตัวหลายอย่างที่ต่างจากโนอื่น ๆ ก่อนการแสดงนักแสดงซึ่งปกติต้องเป็นหัวหน้าคณะหรือไม่ก็นักแสดงอาวุโสจะประกอบพิธีกรรมชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ นักแสดงจะรับประทานอาหารที่ปรุงจากไฟที่แยกพิเศษออกจากบุคคลอื่นในครอบครัว และแยกตัวเองออกมาด้วย แม้กระทั่งเมื่ออยู่ในห้องแต่งตัวก็ยังคงแยกตัวออกจากนักแสดงอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ในห้องคะงะมิโนะมะ(鏡の間)(ห้องกระจกหลังเวที)จะมีการตั้งหิ้งบูชาวางหน้ากากโอะกินะ วางเหล้าสาเกและธัญพืชไว้ข้างหน้าเป็นเครื่องบูชา ก่อนจะก้าวเข้าสู่เวที นักแสดงทุกคนจะร่วมประกอบพิธีชำระล้างและจิบเหล้าสาเกศักดิ์สิทธิ์
สิริมนพร สุริยะวงศ์ไพศาล