โน 能

โน คือ ศิลปะการแสดงละครโบราณของญี่ปุ่นที่เสนอความงามที่ล้ำลึกโดยผ่านสื่อของการขับร้อง การร่ายรำ และดนตรี โดยมีโครงเรื่องที่ค่อนข้างสั้นและง่าย หัวใจสำคัญในการสื่อความหมายของโนอยู่ที่ความเรียบง่าย เอกภาพ ความกลมกลืนและการใช้สัญลักษณ์อย่างมีแบบแผน ละครโนที่พัฒนาจนเป็นดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเริ่มเมื่อราว 600 ปีที่แล้ว โดยสองพ่อลูกคือ คันอะมิ(観阿弥, ค.ศ.1333-1384)กับเสะอะมิ(世阿弥, ค.ศ.1363-1443)ผู้ได้เพิ่มความประณีตงดงามและองค์ประกอบของความบันเทิง ทำให้ศิลปะการแสดงที่มีอยู่เดิมเขยิบฐานะจากการแสดงในระดับชาวบ้านขึ้นมาเป็นการแสดงระดับสูงภายใต้การอุปถัมภ์ของโชกุนผู้ปกครองประเทศตลอดสมัยมุโระมะชิ(室町時代, ค.ศ.1333-1600)และสมัยเอะโดะ(江戸時代, ค.ศ.1600-1868)

 

เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ(明治維新)หลังปี 1868 ละครโนขาดการอุปถัมภ์จากรัฐบาล จนภายหลังได้มีพวกชนชั้นสูงบางกลุ่มเริ่มให้ความอุปการะ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โนจึงเริ่มได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป และนับเป็นครั้งแรกในประวัติการละครโน ที่ศิลปะการแสดงนี้ ดำรงอยู่ด้วยการสนับสนุนของประชาชน ที่เป็นผู้ชมเพียงอย่างเดียว

 

เวทีละครโนมีลักษณะเฉพาะตัว และมีแบบแผนกำหนดไว้ตายตัวอย่างละเอียด ลักษณะเด่นได้แก่ การมีหลังคาเวทีอีกชั้นหนึ่งภายใต้หลังคาของโรงละครโน การที่เวทีเปิดออก 3 ด้านเข้าหาผู้ชม การมีทางเดินเฉียงออกมาทางซ้ายมือเชื่อมกับหลังเวที การไม่มีม่านกั้นระหว่างผู้ชมและเวที และที่สำคัญคือ เป็นศิลปะที่เรียบง่ายแต่สง่างาม

 

ดนตรี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากของละครโนในการสร้างสุนทรียภาพแก่โสตประสาท โดยมีเสียงขลุ่ยเล่นทำนอง และเสียงกลองให้จังหวะ โดยเฉพาะในตอนต้น ตอนไคลแมกซ์ และตอนจบของการแสดง เสียงขลุ่ยจะมีความสำคัญมาก

 

ในการแสดงจะมีคอรัสที่ประกอบด้วยผู้ร้องราว 6–10 คน ร้องเป็นทำนองคล้ายการสวดมนต์ เพื่อบรรยายเรื่องและพูดแทนตัวละครด้วย คอรัสจะนั่งอยู่บนเวทีตลอดการแสดง

 

นักแสดงละครโนเป็นชายล้วนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันได้เริ่มมีนักแสดงหญิงบ้าง ตัวละครโนแบ่งออกเป็น

1.วะกิ(ワキ)เป็นตัวละครรอง จะเป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เสมอ เป็นตัวละครที่เพียงแต่เจรจาโดยไม่มีการร่ายรำ    
2.ฌิเตะ(シテ)เป็นตัวละครเอก ละครโนจะให้ความสำคัญทั้งหมดแก่ตัวละครเอกและให้เป็นผู้ร่ายรำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของละครโน
3.ท์ซุเระ(ツレ)หมายถึงผู้ติดตาม ถ้าเป็นผู้ติดตามตัวละครเอกจะเรียกว่า ฌิเตะสุเระ(シテヅレ) หรือเรียกสั้น ๆ เพียง ท์ซุเระ ถ้าเป็นผู้ติดตามตัวรองจะเรียกว่า วะกิสุเระ(ワキヅレ)
4.อะอิ(アイ)แสดงคั่นระหว่างองก์ที่หนึ่งและสองในเรื่องที่มีสององก์ เพื่อให้เวลาฌิเตะเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย โดยมักจะแสดงเป็นชาวบ้านแถบนั้นที่มาสนทนากับวะกิ และให้ความกระจ่างแก่วะกิกับผู้ชม เกี่ยวกับเรื่องราวของฌิเตะ
5.โคะกะตะ(子方)เป็นนักแสดงเด็ก ซึ่งจะเล่นเป็นตัวละครเด็กหรือบางครั้งก็เป็นตัวละครผู้ใหญ่ที่มีบทเล่นน้อยมาก

 

อุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งของละครโน คือ หน้ากากละครโน ซึ่งสามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้หลากหลายตามท้องเรื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศิลปะการเคลื่อนไหวศีรษะและมือของผู้แสดง หน้ากากจะมีลักษณะต่างกันไปตามประเภทของตัวละคร เช่น เป็นเทพเจ้า นักรบ ขุนนาง สามัญชนในวัยต่าง ๆ กันทั้งหญิงชาย โดยอาจจะเป็นหน้ากากของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และก็มีไม่น้อยที่เป็นหน้ากากของวิญญาณคนตาย

 

โนไม่ใช้ฉากใด ๆ ทั้งสิ้น บนเวทีจะมีเพียงรูปวาดต้นสนอยู่บนผนังเท่านั้น ในการแสดงบางเรื่องอาจมีการใช้ท์ซุกุริโมะโนะ(作り物)หรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแสดง ซึ่งเป็นเพียงโครงสร้างง่าย ๆ ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ  

 

บทละครโนสามารถแบ่งออกเป็นเป็น 5 ประเภท ตามประเภทของฌิเตะเป็นสำคัญ ได้แก่ 
1.คะมิโน(神能)ส่วนใหญ่จะแสดงเพื่อบูชาเทพเจ้าและศาลเจ้า ตัวละครเอกเป็นเทพเจ้า
2.ฌุระโน(修羅能)ตัวละครเอกจะเป็นวิญญาณของนักรบ
3.คะสุระโน(鬘能)ตัวละครเอกปกติจะเป็นหญิงสาวที่สง่างาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นวิญญาณ
4.ละครโนประเภทเบ็ดเตล็ดที่ตัวละครเอกมักเป็นคนวิกลจริต 
5.คิริโน(切能)มีตัวละครเอกเป็นเทพยดาชั้นรอง ๆ เช่น พญามังกร เป็นต้น

 

สิริมนพร สุริยะวงศ์ไพศาล
 

Read more