การรำเอะอิซะ エイサー

การรำเอะอิซะ คือ การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เรียกว่า บงโอะโดะริ(盆踊り)ของหมู่เกาะโอะกินะวะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น การรำนี้จะมีขึ้นในคืนวันส่งวิญญาณของช่วงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ(お盆) คือราวกลางเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากการขับร้องและเต้นรำเพื่อบูชาพระพุทธคุณของเหล่าพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น บทขับร้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา และการกตัญญูต่อบุพการีตามความเชื่อของศาสนาขงจื้อ แต่ต่อมามีบทขับร้องเกี่ยวกับความรักด้วย รูปแบบการรำเอะอิซะแบบโบราณคือ ผู้แสดงมีนับหลายสิบคนจะเต้นรำบริเวณลานกว้างของงานแล้วออกเดินเวียนไปตามบ้านของผู้คนในหมู่บ้าน ผู้แสดงมีทั้งแบบชายล้วน หญิงล้วนและผสมกันซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น โดยปกติแล้วชายหนุ่มจะขับร้อง เต้นรำและบรรเลงเครื่องดนตรีส่วนหญิงสาวจะเต้นรำมือเปล่าเท่านั้น เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองทะอิโกะ(太鼓)และซันฌิน(三線)ซึ่งมีลักษณะคล้ายฌะมิเซ็น(三味線)แต่มีขนาดเล็กกว่า ผู้ชายจะสวมกิโมโนและใช้ฟางพันคาดศีรษะ ไหล่และเอว ส่วนผู้หญิงจะสวมกิโมโนและใช้ฟางข้าวหรือผ้าขาวพันคาดศีรษะ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชายนิยมสวมชุดคลุมทับเสื้อและกางเกงสีขาว โพกศีรษะด้วยผ้าและคลุมแข้งด้วยผ้าลายขาวดำ ส่วนผู้หญิงสวมกิโมโนพันด้วยผ้าลายจุด การแสดงในปัจจุบันมีรูปแบบเปลี่ยนไป บางแห่งกลายเป็นการแสดงบนเวทีและแสดงในงานต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยงแต่งงาน งานประจำปีของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังใช้รำเพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยอีกด้วย

 

วินัย จามรสุริยา

รายการอ้างอิง
神田より子、俵木悟(2010)『民俗小事典 神事と芸能』 吉川弘文館
小島美子他(2009)『祭・芸能・行事大辞典』上 朝倉書店
三隅治雄(2007)『全国年中行事事典』 東京堂出版
 

Read more