บุนระกุ 文楽

บุนระกุ เป็นศิลปะการแสดงประเภทละครหุ่นกระบอกของญี่ปุ่น  ชื่อเรียกการแสดง บุนระกุ ได้มาจากชื่อของโรงละครชื่อ “บุนระกุ” ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เพื่อจัดแสดงละครหุ่นกระบอก บุนระกุ เริ่มแรก ถือกำเนิดมาจากละครหุ่นกระบอกที่เรียกกันในสมัยเอะโดะ(江戸時代)ว่า นิงเงียว โจรุริ(人形浄瑠璃)“นิงเงียว” หมายถึง หุ่นกระบอก “โจรุริ” มาจาก “โจรุริบุฌิ”(浄瑠璃節)ซึ่งเป็นชื่อเรียกการขับร้องบทลำนำเล่านิทานเรื่อง “โจรุริฮิเมะ จูนิดันโซฌิ”(浄瑠璃十二段草紙)ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น

 

ในช่วงปลายยุคสมัยเอะโดะ นิงเงียว โจรุริ เริ่มมีรูปแบบการแสดงใกล้เคียงกับบุนระกุในปัจจุบัน กล่าวคือ มีรูปแบบการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะ สามประเภท คือ 1.ศิลปะการเชิดหุ่นของนักเชิดหุ่นที่เรียกว่า นิงเงียวท์ซุกะอิ(人形遣い)2.ศิลปะการเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองการขับลำนำเล่าเรื่องและพากย์บทพูดของตัวละครตามท้องเรื่องที่มีแบบฉบับเฉพาะที่เรียกว่า กิดะยูบุฌิ(義太夫節)ที่ริเริ่มและกำหนดแบบแผนขึ้นครั้งแรกโดย นักขับลำนำชื่อ ทะเกะโมะโตะ กิดะยู(竹本義太夫)3.ศิลปะการบรรเลงของเครื่องดนตรีฌะมิเซ็น(三味線)

 

บทที่ใช้แสดงเป็นบทละครที่เขียนขึ้นสำหรับการแสดงบุนระกุโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่แต่งในสมัยเอะโดะช่วงศตวรรษที่ 16-18 โดยนักแต่งบทละครอาชีพได้แก่ ชิกะมะท์ซุ มนสะเอะมน(近松門左衛門)คิ โนะ คะอิอน(紀海音)และ ชิกะมะท์ซุ ฮันจิ(近松半二)บทละครที่เป็นที่รู้จักได้แก่เรื่อง โซเนะสะกิ ฌินจู(曾根崎心中)ซุงะวะระเด็นจุ เทะนะระอิกะงะมิ(菅原伝授手習鑑)โยะฌิท์ซุเนะ เซ็มบนสะกุระ(義経千本桜)คะนะเดะฮน ชูฌินงุระ(仮名手本忠臣蔵)ละครทั้งสามเรื่องนี้ยังจัดแสดงบ่อยครั้งที่สุดและเรียกความนิยมจากผู้ชมในปัจจุบันได้จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เพลงที่ใช้ร้องเป็นท่วงทำนองเฉพาะของกิดะยูที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเอะโดะเรียกว่า กิดะยูบุฌิ เครื่องดนตรีหลักที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ฌะมิเซ็น ละครบุนระกุ สะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องเทพเจ้าชินโต ศาสนาพุทธ ความเชื่อในพระโพธิสัตว์กวนอิม คติธรรมเรื่องธรรมะย่อมชนะอธรรม 

 

โรงละครบุนระกุมีเวทีจัดแสดง และที่นั่งของผู้ชมเหมือนโรงละครทั่วไป ตรงกลางเวทีเป็นที่จัดแสดงการเชิดหุ่น ด้านในเป็นฉากประกอบการแสดง ขวาสุดด้านหน้าของเวทีจะมีเวทีเล็ก ๆ ยื่นออกมาทางด้านผู้ชมเรียกว่า ยุกะ(床)เป็นที่นั่งของนักขับลำนำหรือนักพากย์บทละครหุ่นที่เรียกว่า ทะยู(太夫)และนักดนตรีฌะมิเซ็น ที่ยุกะมีการติดตั้งกลไกให้หมุนสลับด้านหน้าด้านหลังได้ ทีมงานที่แสดงบุนระกุล้วนแต่เป็นผู้ชาย

 

นักเชิดหุ่นประกอบด้วยคนเชิด 3 คนในการเชิดหุ่น 1 ตัว นักเชิดหุ่นแต่งกายในชุดสีดำทั้งชุด และคลุมศรีษะด้วยหมวกสีดำเจาะช่องสำหรับมองที่บริเวณตา ทะยูและนักดนตรีฌะมิเซ็นก็อยู่ในชุดกิโมโนสีดำ สีเทา หรือสีเรียบปราศจากลวดลาย ส่วนเครื่องแต่งกายของหุ่นกระบอกตามตัวละครบทนักรบหรือเจ้าหญิงในชุดกิโมโนสวยงดงามตระการตา

 

อุปกรณ์หลักได้แก่ หุ่นกระบอก อุปกรณ์ชิ้นเล็กได้แก่ ดาบ ผ้าเช็ดมือ อุปกรณ์สำหรับให้หุ่นถือได้แก่ ตะเกียง พัดญี่ปุ่น

 

ปัจจุบันบุนระกุมีโปรแกรมการแสดงตลอดทั้งปี ณ โรงละครแห่งชาติญี่ปุ่น และโรงละครบุนระกุแห่งชาติ องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้บุนระกุเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 ในฐานะศิลปะการแสดงที่ทรงคุณค่าของโลก ปัจจุบันบุนระกุได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ   

 

กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

รายการอ้างอิง
鳥越文蔵、内山美樹子、渡辺保(1998)『岩波講座 歌舞伎 文楽 第八巻』岩波書店
角田一郎、山根為雄(1998)「義太夫節の成立」『岩波講座 歌舞伎 文楽 第八巻』岩波書店
裕田善雄(1981)「文楽浄瑠璃集」『日本古典文学大系99』岩波書店

Read more
โน 能

โน 能

สิริมนพร สุริยะวงศ์ไพศาล | Jun 7, 2020