คะงุระ เป็นศิลปะการแสดงขับร้องและร่ายรำเพื่อบูชาเทพเจ้า ถือเป็นการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าคุ้มครอง อวยชัยให้พรให้มีชีวิตยืนยาว หรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป นิยมแสดงกันในศาลเจ้า เชื่อกันว่าคะงุระเป็นการแสดงพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุด คำว่า “คะงุระ” มีรากศัพท์มาจากคำว่า คะมิกุระหรือคะมุกุระ(神座)ซึ่งหมายถึง สถานที่สถิตของเทพเจ้า หรือแท่นบูชาที่เทพเจ้าจะประทับเมื่อลงมาจากสวรรค์
คะงุระแบ่งออกได้หลายชนิดตามจุดมุ่งหมายของการแสดง ได้แก่
1. มิกะงุระ(御神楽)หมายถึง การแสดงบูชาเทพเจ้าในราชสำนักหรือศาลเจ้าที่มีความสัมพันธ์กับราชสำนักแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น เป็นการร่ายรำพร้อมกับร้องเพลงบูชาเทพเจ้า โดยมีเครื่องดนตรีหลักสี่ชนิดได้แก่ กรับ ปี่ ขลุ่ย และจะเข้ญี่ปุ่นหรือวะงน(和琴)
2. ซะโตะกะงุระ(里神楽)หมายถึง การแสดงบูชาเทพเจ้าแบบพื้นบ้าน มีรูปแบบที่แตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่น
3. คะงุระที่ใช้ในการแสดงละครโน(能)เป็นการแสดงที่ตัวละครที่เป็นเทพีหรือหญิงรับใช้เทพเจ้าที่เรียกว่ามิโกะ(巫女)จะร่ายรำด้วยจังหวะเร็วและถือยันต์อยู่ในมือ
4. คะงุระที่ใช้แสดงประกอบในเคียวเง็น(狂言)เป็นการแสดงที่ผู้ร่ายรำคือหญิงรับใช้เทพเจ้าจะถือกระดิ่งหรือพัดแล้วรำด้วยเพลงที่ต่างจากในละครโน
5. คะงุระในการแสดงละครคาบูกิ(歌舞伎)เป็นการแสดงฉากที่มีศาลเจ้าหรือการร่ายรำบูชาเทพเจ้าในเทศกาลต่างๆ
6. จิอุตะ(地歌)เพลงที่ขับร้องคลอกับซอสามสายหรือฌะมิเซ็น(三味線)เพื่อบูชาเทพเจ้าแพร่หลายตั้งแต่ศตวรรษที่18
นอกจากนี้แล้วยังมีคะงุระที่ร่ายรำโดยหญิงรับใช้เทพเจ้าที่เรียกว่า มิโกะกะงุระ(巫女神楽)โดยหญิงผู้ร่ายรำจะถือของศักดิ์สิทธิ์ไว้ในมือ อาทิ กระดิ่ง พัด หรือกิ่งไม้ซะกะกิ(榊)ซึ่งเป็นไม้ที่นิยมใช้ประดับตามหิ้งบูชาเทพเจ้าหรือแท่นสักการะเทพในศาลเจ้า กล่าวกันว่าการแสดงคะงุระแบบนี้มีที่มาจากตำนานเทพเจ้าที่ปรากฏในโคะจิกิ(古事記)และนิฮงโฌะกิ(日本書紀)วรรณกรรมโบราณสมัยศตวรรษที่ 8 เนื้อเรื่องเล่าว่าเมื่อเทพีแห่งดวงอาทิตย์เข้าไปหลบอยู่ในถ้ำ จนโลกมืดมิดและเกิดเหตุเภทภัยนานา ปวงเทพจึงหาวิธีเชิญเทพีแห่งดวงอาทิตย์ออกจากถ้ำ เทพีองค์หนึ่งชื่ออะเมะโนะอุสุเมะ(天鈿女命)ได้รับมอบหมายให้ร่ายรำหน้าถ้ำ นางเต้นจนผ้าพันกายหลุดร่วง สร้างความบันเทิงแก่บรรดาเทพเจ้าทั้งหลายจนส่งเสียงหัวเราะเฮฮา เทพีแห่งดวงอาทิตย์สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นจนต้องเปิดประตูถ้ำออกมา แสงสว่างจึงกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง นักแสดงละครโนและคาบูกิถือว่าการแสดงหน้าถ้ำในตำนานดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น และเป็นการร่ายรำถวายเทพเจ้าที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก
นอกจากมิโกะกะงุระแล้วก็ยังมีคะงุระที่มีที่มาจากการแสดงคะงุระในศาลเจ้าบางแห่ง เช่น คะงุระแบบอิสุโมะ(出雲流神楽)เกิดจากการแสดงคะงุระประกอบพิธีเปลี่ยนแท่นบูชาเทพเจ้าในศาลเจ้าซะดะ(佐太神社)เมืองอิสุโมะ คะงุระแบบอิเซะ(伊勢流神楽)เป็นการแสดงในพิธีต้มน้ำร้อน หรือ ยุดะเตะ(湯立)ของศาลเจ้าอิเซะจิงงู(伊勢神宮)เชื่อกันว่าพิธีนี้จะบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บและทำให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
ฌิฌิกะงุระ(獅子神楽)หรือการแสดงเชิดสิงโตเพื่อขอพรเทพเจ้า เป็นคะงุระที่นิยมมากประเภทหนึ่ง กล่าวกันว่าเดิมแพร่หลายจากอินเดียไปยังจีน และญี่ปุ่นรับสืบทอดต่อมาในสมัยนะระ(奈良時代) ภายหลังเรียกการเต้นด้วยหัวสิงโตว่า ฌิฌิมะอิ(獅子舞)ปัจจุบันฌิฌิกะงุระมักแสดงในงานเทศกาลของศาลเจ้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ภัทร์อร พิพัฒนกุล
รายการอ้างอิง
倉林正次(1983)『日本まつりと年中行事辞典』桜楓社
興津要(1985)『日本を知る事典』社会思想社