ฌิฌิมะอิ 獅子舞

ฌิฌิมะอิ คือ ศิลปะการแสดงร่ายรำขอพรเทพเจ้าโดยเชิดหัวสิงโตหรือฌิฌิงะฌิระ(獅子頭)เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฌิฌิโอะโดะริ(獅子踊り)การแสดงนี้แบ่งเป็นสองประเภท คือ 1.การแสดงถวายเทพเจ้าหรือคะงุระ(神楽)ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กิงะกุ(伎楽)ใช้ผู้เชิดสองคนหรือมากกว่าเชิดหัวสิงโต 2.การแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ หรือ ฟุรีว(風流)ใช้ผู้เชิดคนเดียว เชิดหัวสิงโตพร้อมกับสะพายกลองไว้ที่ท้อง

 

เชื่อกันว่าการแสดงฌิฌิมะอินี้ได้รับถ่ายทอดจากจีนมายังญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนสมัยนะระ ประเภทแรกมีรากฐานมาจากทางทิศตะวันตก และแพร่หลายไปทั่วประเทศ มีความคล้ายคลึงกับการเชิดสิงโตแบบจีน มักแสดงตามงานเทศกาลในศาลเจ้าฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง นอกจากนั้นยังนิยมแห่ขบวนวนไปตามบ้านเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ในขบวนแห่มักนำด้วยผู้สวมหน้ากากหรือหัวของเทพเจ้าสำคัญต่าง ๆ โดยทั่วไปใช้คนเชิดคนหนึ่งเป็นส่วนหัว อีกคนหนึ่งเป็นส่วนหาง ประเภทที่สองนั้นผู้เชิดคนเดียวสวมหัว แขวนกลองไว้ที่ท้องแล้วเต้น แห่เป็นขบวนที่มีสิงโต 3, 6, 8 หรือ 12 ตัว บางครั้งหัวอาจเป็นสัตว์ชนิดอื่น เช่น กวาง มังกร หมูป่า ฯลฯ บางครั้งมีการแสดงของสิงโตสองตัวที่เรียกว่าแม่สิงโตซ่อนลูกหรือเมะจิฌิงะกุฌิ(雌獅子隠)การเชิดสิงโตจะใช้กลองตีเป็นจังหวะเร็วและสนุกสนาน  สร้างความครึกครื้นแก่งานเทศกาลญี่ปุ่นในปัจจุบัน

 

ภัทร์อร  พิพัฒนกุล

 

รายการอ้างอิง
倉林正次(1983)『日本まつりと年中行事辞典』桜楓社
 

Read more