『その日本語、ちょっと変かも?』
最終回 毎日歯をみがいています
ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร
เนื่องจากครั้งนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้ว เราจึงขอถือโอกาสแนะนำทุกท่านให้รู้จักอาจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้จัดทำซีรีส์นี้นะคะ
อาจารย์อายาเมะ วาตานาเบะ
ขอบคุณอาจารย์มากสำหรับเวลา 1 ปีที่ช่วยดูแลซีรีส์นี้มาค่ะ
ตอนสุดท้ายนี้ขอเสนอเรื่องราวความแตกต่างของกริยารูป「~ています」และกริยารูป「~ます」 ที่ใช้ในการแสดงกิจวัตรประจำวันค่ะ
ไปติดตามเนื้อหากันได้เลยค่ะ!
สถานการณ์: หลังจากเรียนเรื่องกริยารูป「ています」
ครู
: 「「~ています」をつかって、ぶんを つくってください。
(ให้นักเรียนแต่งประโยคโดยใช้「~ています」)」
นักเรียน
: 「チョムナードせんせいは、まいにち はを みがいています。
(“อาจารย์ชมนาดแปรงฟันทุกวัน”ครับ)」
ทุกคนคิดว่าการพูดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ ??
สำนวนที่แสดงกิจวัตรประจำวัน
กริยารูป「~ています」มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับแต่ละประโยคที่ใช้
หนึ่งในนั้นคือ วิธีใช้เพื่อ “แสดงกิจวัตรประจำวัน”
เช่น 「わたしは まいあさ ジョギングを しています。(ฉันวิ่งจ๊อกกิ้งทุกวัน)」
นอกจาก「~ています」แล้ว กริยารูป「~ます」 ก็ใช้แสดงแสดงกิจวัตรประจำวันเช่นเดียวกัน
เอ๊ะ อย่างนี้ก็แปลว่าทั้งกริยารูป「~ています」และ「~ます」ก็ใช้ได้เหมือนกันน่ะเหรอ ???
ความแตกต่างระหว่างกริยารูป「~ています」กับกริยารูป「~ます」
「~ています」มักใช้แสดงกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
「~ます」ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และใช้กับกิจวัตรที่เป็นอย่างนั้นเสมอมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ถ้าอย่างนั้นควรพูดว่าอย่างไรดี
ขอแนะนำให้ทุกคนใช้รูปประโยคนี้ค่ะ
「チョムナードせんせいは、まいにち はを みがきます」
(ใช้เมื่อต้องการบอกว่าอาจารย์ชมนาดแปรงฟันทุกวันแบบนี้มาโดยตลอด)
ขอแถมอีกประโยคที่สามารถใช้กริยารูป「~ています」ได้ค่ะ
「チョムナードせんせいは、3ねんまえに むしばに なってから、まいにち はを みがいています。(ตั้งแต่ฟันผุเมื่อ 3 ปีก่อน อาจารย์ชมนาดแปรงฟันทุกวัน)」
สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ https://www.facebook.com/JapaneseChula/