『その日本語、ちょっと変かも?』
第1回 ニックネーム
ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร
ตอนที่ 1 ขอนำเสนอเรื่องราวใกล้ตัวอย่างการแนะนำชื่อเล่นของตัวเองนะคะ
ไปติดตามกันเลยค่ะ
ตอนที่ 1 “แนะนำชื่อเล่นตัวเองอย่างไรดี”
ทุกคนคิดว่า การแนะนำชื่อเล่นตัวเองแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ
「はじめまして。○○○と もうします。△△(ชื่อเล่น)と よんでも いいですよ。」
“สวัสดีค่ะ ฉันชื่อ “มานี ใจไทย” เรียกว่า “แก้ว” ก็ได้ค่ะ”
เอ…ภาษาไทยก็พูดได้นี่นา ฟังดูแปลกยังไงกันนะ?
「△△(ชื่อเล่น)と よんでも いいですよ。」
วิธีพูดแบบนี้อาจฟังดูเสียมารยาทเหรอ!?
รูปประโยค「~ても いいです」ใช้ในการอนุญาตให้คู่สนทนาทำบางอย่าง ทั้งยังมีความหมายว่า “ไม่ห้ามการทำ…”
เมื่อใช้รูปประโยคเช่นนี้จึงหมายความว่า เราอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวมี “สิทธิ” ในการตัดสินใจทำบางอย่าง (ซึ่งฟังดูเหมือนว่าผู้พูดมีอำนาจเหนือกว่าคู่สนทนา) ดังนั้น จึงอาจฟังดูเสียมารยาทเมื่อใช้ในการทักทายคนที่เพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังไม่ควรใช้รูปประโยคนี้กับรุ่นพี่หรือบุคคลที่มีสถานภาพสูงกว่าเรา เช่น ครูอาจารย์ เจ้านาย
ทั้งนี้ “การขออนุญาตที่ใช้รูปประโยคคำถาม” เช่น 「まどを あけても いいですか (ขออนุญาตเปิดหน้าต่างได้ไหม)」「しゃしんを とっても いいですか (ขออนุญาตถ่ายรูปได้ไหม)」สามารถใช้รูปประโยค「~ても いいですか」นี้ได้ ไม่มีปัญหาค่ะ
ขอแนะนำให้ทุกคนบอกชื่อเล่นโดยใช้รูปประโยคนี้ค่ะ
「△△(ชื่อเล่น)と よんで ください。」
แล้วมาติดตามภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่คนญี่ปุ่นเองยังต้องฉงนในตอนต่อไปนะคะ♡
สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ https://www.facebook.com/JapaneseChula/