ลักษณะเฉพาะของตัวอักษรคันจิ 漢字の特徴

ญี่ปุ่นรับอักษรคันจิจากจีน ดังนั้นขอกล่าวถึงลักษณะของอักษรจีนคร่าว ๆ ก่อน อักษรจีนไม่ใช่อักษรแทนเสียงเหมือนอักษรส่วนใหญ่ในโลกรวมถึงอักษรญี่ปุ่นเองด้วย อักษรจีนประกอบด้วยอักษรภาพหรืออักษรสัญลักษณ์ และอักษรส่วนใหญ่มีส่วนที่บอกเสียงด้วย อักษรจีนส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยส่วนย่อยนำมาประกอบกันเช่น 性 ประกอบด้วย忄และ生 忄เป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่บอกความหมาย 生 เป็นส่วนที่บอกว่าออกเสียงอย่างไร หากรู้ว่า 性 ออกเสียงอย่างไรเมื่อเห็นตัวอักษร 姓 ก็คาดเดาเสียงได้เพราะมีส่วนที่บอกเสียงเหมือนกัน

 

เมื่อญี่ปุ่นรับอักษรจีนมาใช้เรียกว่า อักษรคันจิ มีลักษณะที่ต่างไปจากภาษาจีน คือมีทั้งการออกเสียงจีนสำเนียงญี่ปุ่น เรียกว่า อ่านแบบ “อง” เช่น 五 อ่านว่าโกะ ในขณะที่เมื่อนำไปใช้เขียนการนับแบบญี่ปุ่น 五つ จะอ่านว่า “อิทซึทซึ” การอ่านแบบญี่ปุ่น เรียกว่า การอ่านแบบ “คุง” การอ่านแบบนี้บางคำมีอักษรญี่ปุ่นเขียนประกอบด้วยอักษรคันจิจำนวนมาก มีทั้งเสียง “อง” และ “คุง” แต่คำศัพท์ทางวิชาการจำนวนไม่น้อยมีแต่เสียง“อง” คันจิบางตัวมีเสียง“อง” หลายแบบทำให้ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นสับสน ทั้งนี้เนื่องจากญี่ปุ่นรับอักษรจีนมาต่างยุคสมัยและต่างถิ่นกัน แบ่งได้เป็น 3 เสียง คือ

 

1 . เสียงวู หรือ ญี่ปุ่นเรียกว่า โกะ เป็นสำเนียงที่เก่าที่สุดที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีนในสมัยราชวงศ์ทางเหนือและใต้ช่วงศตวรรษที่ 5 และ 6 หรือผ่านเกาหลี มักเป็นศัพท์ด้านพุทธศาสนาและกฏหมาย สำเนียงนี้ใช้ในมังโยชู และโคจิกิ ตัวอย่างคำศัพท์สำเนียงนี้ ได้แก่ นัง 男 เนียวะ 女 จิ 児

 

2. เสียงฮั่น เป็นเสียงที่รับมาปลายสมัยนาราถึงช่วงสมัยเฮอัน นำมาโดยทูตจากจีนและนักศึกษาญี่ปุ่นที่ไปเรียนที่ประเทศจีน ญี่ปุ่นได้ศึกษาสำเนียงนี้อย่างเป็นระบบมากกว่าเสียง โกะ ทำให้อักษรคันจิแทบทุกตัวในภาษาญี่ปุ่นอ่านเป็นเสียงประเภทนี้ได้ สำเนียงนี้มีลักษณะเสียงของภาษาจีนเมืองฉางอัน

 

3. เสียงถัง เป็นสำเนียงที่รับมาหลังสมัยคามาคูระ เป็นภาษาจีนในสมัยซ้อง ตัวอย่างคำศัพท์สำเนียงนี้ ได้แก่ อิสุ 椅子 ชิง 清 เซนสุุ 扇子

 

เมื่อใช้อักษรคันจิได้แล้วคนญี่ปุ่นก็ประดิษฐ์อักษรคันจิขึ้นเอง เช่น 峠 แปลว่า ทางเดินบนเขา 笹 ใบไผ่ 働 ทำงาน 凧 ว่าว 枠 กรอบ 畑 นาหรือสวน นอกจากนี้ชื่อปลาและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ญี่ปุ่นก็นิยมคิดคำหรือตัวอักษรขึ้นใหม่ เช่น 鯨 ปลาวาฬ 鮎 ปลาอะยุ 鮑 เป๋าฮื้อ 秋刀魚 ปลาซันมะ ญี่ปุ่นประกอบสร้างตัวอักษรคันจิที่มีอยู่เดิมขึ้นเป็นคำใหม่ด้วย

 

ในสมัยเมจิญี่ปุ่นสร้างคำใหม่มาใช้เมื่อรับวิทยาการจากตะวันตกในสาขาวิชาใหม่ ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และรัฐศาสตร์ คำเหล่านี้ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ 経済 ปรัชญา 哲学 ปฎิวัติ 革命 สังคมนิยม 社会主義 พรรคคอมมิวนิสต์ 共産党 นักคิดหลายคน เช่น ยูคิจิ ฟุกะสะวะ เป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่คิดคำใหม่เหล่านี้ ต่อมาจีนมายืมคำเหล่านี้จำนวนมากกลับไปใช้อีก

 

วรวุฒิ  จิราสมบัติ

Read more