การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น 国語学・日本語教育

การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น(日本語教育)เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ประมาณปลายศตวรรษที่ 20 และเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวของคนต่างชาติจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 กลุ่มニューカマーหรือกลุ่มคนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นรุ่นที่ 2 และ 3 ได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ ทำให้กลุ่มนี้พาครอบครัวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มข้อตกลงการให้คนฟิลิปปินส์และคนอินโดนีเซียเข้ามาทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการในการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นขยายวงกว้างมากขึ้น ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นไม่จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังขยายวงไปถึงบุตรและครอบครัวของกลุ่มニューカマーด้วย 

 

นอกจากนี้ความหลากหลายของผู้สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มีมากขึ้น เพราะเดิมผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นจะเรียนเพื่อใช้ภาษาญี่ปุ่นในการประกอบอาชีพหรือเรียนต่อ แต่เมื่อเข้าศตวรรษที่ 21 มีผู้สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ เช่น สนใจวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น หรือเรียนเพราะต้องการสื่อสารกับชาวญี่ปุ่น หรือเรียนเป็นงานอดิเรก เป็นต้น ทำให้สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นมีการขยายวงกว้างออกไปและมีความหลากหลายอย่างชัดเจน

 

เดิมในศตวรรษที่ 20 สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นจะเป็นสาขาที่เกี่ยวกับตัวภาษา หรือภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก เช่น ภาษาศาสตร์(言語学)ภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่น(国語学และ日本語学)ต่อมาเมื่อเกิดความต้องการและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ราวปลายศตวรรษที่ 20 เกิดศาสตร์การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นโดยเฉพาะขึ้นมา และมีการเปิดสอนในระดับทั้งปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการวิจัยตัวภาษาญี่ปุ่นในเชิงลึกเช่นที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ให้ความสนใจในวงกว้างมากขึ้น

 

 

ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสาขาที่เกี่ยวข้องของศาสตร์นี้อย่างชัดเจนคือ ขอบเขตของเนื้อหาในการสอบวัดระดับความสามารถการสอนภาษาญี่ปุ่น หรือ日本語教育力検定試験(Japanese Language Teaching Competency Test)ที่จัดขึ้นทุกปีโดย Japanese Educational Exchanges and Service โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทดสอบผู้ที่เป็น หรือที่เตรียมตัวจะเป็นอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นว่ามีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานหรือไม่ ในการสอบนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตเนื้อหาของข้อสอบตั้งแต่ปลายต้นศตวรรษที่ 21 โดยลดขอบเขตความรู้ทางด้านภาษาลงและเพิ่มความรู้ของสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอีก 5 กลุ่ม คือ 

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มทางด้านสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น มีหัวข้อที่สำคัญ เช่น โลกกับประเทศญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสภาพการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบัน คุณลักษณะที่พึงประสงค์และความสามารถของอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น 

 

กลุ่มที่ 2 ภาษาและสังคม มีหัวข้อที่สำคัญ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและสังคม การใช้ภาษาในสังคม การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม 

 

กลุ่มที่ 3 ภาษาและจิตวิทยา มีหัวข้อที่สำคัญ เช่น กระบวนการเข้าใจภาษา การเรียนรู้และการพัฒนาภาษา ความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและจิตวิทยา 

 

กลุ่มที่ 4 ภาษาและการศึกษา มีหัวข้อที่สำคัญ เช่น วิธีการสอนและการออกแบบหลักสูตร การสอนเพื่อการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ข่าวสารกับการศึกษาภาษา การใช้สื่อโสตทัศน์และการออกแบบเลือกสื่อการสอน 

 

กลุ่มที่ 5 กลุ่มภาษา มีหัวข้อที่สำคัญ คือ โครงสร้างของภาษาในโลกและภาษาญี่ปุ่น ความสามารถทางการสื่อสาร

 

จะเห็นว่าขอบเขตของเนื้อหาในการสอบที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นว่า สาขาวิชาทางด้านการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นมีการขยายกว้างขึ้นและมีความสัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นอย่างเห็นได้ชัด การสอบนี้มีจำนวนผู้เข้าสอบปีละ 4,700-6,800 คนต่อปี และมีอัตราผู้สอบผ่านเพียง 18%-20% การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของตลาดทางวิชาการที่ต้องการให้ผู้ที่จะเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นสามารถสอนได้ในวงที่กว้างขึ้น คือ เน้นการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมและการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมโลกมากกว่าที่จะสอนเฉพาะตัวภาษาเท่านั้น

 

 

กนกวรรณ เลาหบูรณะกิจ คะตะกิริ

 

รายการอ้างอิง :

水谷修監修(2009)『日本語教育の過去・現在・未来 第1巻社会』凡人社
 

 

รูปภาพประกอบ:

1. https://pixabay.com/th/illustrations/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8-%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99-1459661/

2. https://pxhere.com/th/photo/1585491

Read more