ตำราภาษาญี่ปุ่น 日本語教材

จากผลการสำรวจของเจแปนฟาวน์เดชั่นประจำปี 2009(สำรวจระหว่างปี 2009 – เดือนมกราคม 2010)สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นประการหนึ่งคือ การขาดตำราที่เหมาะสม แม้ว่าการพัฒนาตำราภาษาญี่ปุ่นมีมาอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปัจจุบันมีตำราภาษาญี่ปุ่นจำนวนมากประมาณ 900 ชื่อ สะท้อนให้เห็นว่ามีการผลิตตำราสำหรับการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในหลายแง่มุมมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามผู้สอนและผู้เรียนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหาตำราที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนของตนและคิดว่าการขาดตำราที่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญ

 

ปัญหาประการหนึ่งที่มักจะเป็นที่กล่าวถึงคือยังไม่มีตำราที่ส่งเสริมทักษะการสื่อสารมากพอ กล่าวกันว่าตำราภาษาญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมและใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือตำราชั้นต้นที่ชื่อ “みんなの日本語I,II” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 3A Network เหตุผลที่มีการใช้ตำราชุดนี้อย่างแพร่หลายก็คือ ตำราชุดนี้มีตำราเสริมประกอบครบทุกด้าน(เช่น การอ่าน รูปภาพ ซีดี คู่มือการสอน ฯลฯ)แต่เนื่องจากเป็นตำราที่เน้นการสอนไวยากรณ์เป็นหลักและไม่เน้นกิจกรรมเพื่อการสื่อสาร ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตำราที่ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ภาษาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นความสามารถในการสื่อสาร ดังนั้นปัจจุบันสถาบันหลายแห่งจึงเริ่มเปลี่ยนไปใช้ตำราเล่มอื่นกันมากขึ้น

 

หากมองภาพรวมของตำราภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสามารถแบ่งประเภทตำราออกได้ เป็น 5 ประเภทคือ

 

1)ตำราเพื่อส่งเสริมทักษะรวม เช่น ตำรา “みんなの日本語I,II(3A Network)” “初級日本語 げんき(The Japan Times)” “J-Bridge(凡人社)”

 

 2)ตำราเพื่อส่งเสริมทักษะใดทักษะหนึ่ง(ฟัง พูด อ่าน เขียน)เช่น “毎日の聞きとりPlus 40(凡人社)(การฟัง)” “会話に挑戦!:中級前期からの日本語ロールプレイ(3A Network)(การพูด)” “日本語上級読解(アルク)(การอ่าน)” “日本語Eメールの書き方(The Japan Times)(การเขียน)”

 

3)ตำราที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ตำราคันจิ ตำราการฝึกการออกเสียง

 

4)ตำราที่สอนภาษาญี่ปุ่นเฉพาะทาง เช่น ตำราสำหรับนักธุรกิจที่เรียนภาษาญี่ปุ่น “Crash Course Japanese For Business(アルク)”

 

5)ตำราสำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่น ที่เป็นเด็ก เช่น “ひろこさんのたのしいにほんご(凡人社)”

 

สถาบันและผู้สอนจะเลือกตำราเล่มใดหรือชุดใดจะต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ 1. ระดับความสามารถของผู้เรียนว่าอยู่ในระดับชั้นต้น กลาง หรือชั้นสูง 2. กลุ่มของผู้เรียน เช่น เป็นนักศึกษา หรือนักธุรกิจ เป็นต้น 3. ชั่วโมงเรียนที่ผู้เรียนเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแล้ว 4. จุดประสงค์ในการเรียน 5. หัวข้อและลำดับของหัวข้อในตำรามีความเหมาะสมหรือไม่ 6. โครงสร้างของตำรา 7. มีแบบฝึกหัดประเภทใด และเหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ 8. มีการใช้ Syllabus หรือแนวการสอน(シラバス)แบบใด เช่น เป็นแบบที่เน้นไวยากรณ์(構造シラバス)หรือโครงแบบที่เน้นสถานการณ์(場面シラバス)หรือโครงที่เน้นหัวเรื่อง(トピックシラバス)หรือแบบที่เน้นแบบฝึกหัด(タスクシラバス)9. ตำราผลิตขึ้นโดยใช้แนวการสอนแบบใด 10. ตำราที่เหมาะจะใช้ในห้องเรียนหรือใช้เพื่อศึกษาด้วยตนเอง 11. หากมีคำอธิบายหรือคำแปลภาษาอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่นประกอบอยู่ ผู้เรียนอ่านแล้วจะเข้าใจเองได้หรือไม่ 12. มีตำราเสริมประกอบเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ 13. ราคา รูปภาพ และขนาด มีความเหมาะสมหรือไม่

 

สำหรับตำราภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในประเทศไทย ในระดับมัธยมปลายมีการใช้ตำรา “あきこと友だち(Kinokuniya Thailand)” อย่างกว้างขวาง ส่วนในระดับอุดมศึกษามีการใช้ตำรา “みんなの日本語I,II(3A Network)” เป็นจำนวนมาก และบางสถาบันมีการผลิตตำราในระดับชั้นต้นบ้าง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการผลิตตำราในระดับชั้นกลางหรือชั้นสูงอย่างจริงจัง

 

                                                     กนกวรรณ เลาหบูรณะกิจ คะตะกิริ

 

吉岡英幸編(2008)『徹底ガイド日本語教材』凡人社

Read more