ทะอิโกะ 太鼓

ทะอิโกะเป็นกลองชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น ตัวกลองมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ความสูงของตัวกลองมีทั้งแบบยาวกว่าและสั้นกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้ากลอง ตัวกลองทำด้วยไม้หรือโลหะ โดยทั่วไปแล้วตัวกลองมีรูปทรงกระบอก แต่มีส่วนขยายออกตรงกลาง และบางประเภทเป็นเพียงด้ามยึดหน้ากลองเท่านั้น หน้ากลองขึงด้วยหนังสัตว์ กระดาษหรือพลาสติก มีทั้งแบบขึงสองด้านและขึงด้านเดียว การตีจะตีด้วยไม้กลองหรือมือเปล่าก็ได้ กลองทะอิโกะมีหลายประเภทเช่นกลองที่ขึงหน้าสองด้านด้วยเชือกเรียกว่า ฌิเมะดะอิโกะ(締太鼓)กลองที่ขึงหน้าด้านเดียวโดยดัดแปลงจากพัดอุชิวะ(団扇)เรียกว่า อุชิวะดะอิโกะ(団扇太鼓)นิยมใช้ในพิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายนิชิเร็น(日蓮宗)กลองขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 2 เมตร นิยมใช้ในงานพิธีของศาลเจ้า การแสดงคาบูกิ(歌舞伎)การรำเซ่นไหว้บรรพบุรุษ(盆踊り)การขับร้องบทเพลงท้องถิ่น ฯลฯ เรียกว่า ดะดะอิโกะ หรือ โอดะอิโกะ(大太鼓)หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับกลองทะอิโกะของญี่ปุ่นคือตุ๊กตาดินเผาหรือฮะนิวะ(埴輪)รูปชายตีกลองทะอิโกะซึ่งขุดค้นพบได้จากแคว้นกุมมะ สันนิษฐานว่ากลองทะอิโกะทำขึ้นเลียนแบบจากกลองของประเทศเกาหลีสมัยโบราณ 

 

วินัย จามรสุริยา

 

เอกสารอ้างอิง
神田より子、俵木悟(2010)『民俗小事典 神事と芸能』吉川弘文館

Read more