มันสะอิ เป็นการแสดงพูดตลกที่มีผู้แสดงสองคนเล่นเป็นคู่ เดิมมีต้นกำเนิดจากการแสดงพูดโต้ตอบให้ผู้ชมขบขัน โดยฝ่ายหนึ่งตีกลองและอีกฝ่ายหนึ่งใช้พัดรำ ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1887 พ่อค้าขายไข่ชาวคันซะอิซึ่งมีเสียงดีชื่อ ทะมะโงะยะ เอ็นตะท์ซุ(玉子家円辰)ได้นำการแสดงดั้งเดิมที่เรียกว่า ซังเกียวกุมันสะอิ(三曲万歳)และการแสดงร้องโต้ตอบแบบอื่น ๆ มาพัฒนา มันสะอิจึงมีรูปแบบใหม่ที่เป็นนักแสดงชายในชุดกิโมโนสีดำสองคนบนเวที ใช้กลองและพัดประกอบในการพูดตลก เป็นที่นิยมแพร่หลายในฐานะศิลปะการแสดงระดับมวลชน เอ็นตะท์ซุได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแสดงมันสะอิบนเวที จากการที่นักแสดงรุ่นต่อ ๆ มาล้วนแต่มีฝีปากคมคายทำให้มันสะอิมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1930 คู่มันสะอิ หรือ คอมบิ(コンビ)ชื่อ “เอ็นตะท์ซุ-อะชะโกะ”(エンタツ-アチャコ)ได้นำมันสะอิมาแสดงในแนวสมัยใหม่ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ทั้งหมด พวกเขาสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตก ไม่ร้องเพลงประกอบการแสดง ไม่มีกลองหรือพัด หัวข้อที่นำมาเล่นพูดโต้กันคือเรื่องชีวิตประจำวัน กีฬา หรือเรื่องเล่าทั่วไปใกล้ตัว ทั้งสองทำให้มันสะอิมีสีสันขึ้น สืบทอดเป็นรูปแบบของมันสะอิในปัจจุบัน และเพิ่มความนิยมให้ศิลปะการแสดงประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 1934 มีการจัดแข่งขันมันสะอิเวทีใหญ่ในโตเกียวเป็นเวลาสามวันโดยใช้ชื่องานว่า “โทะกุเซ็นมันสะอิตะอิกะอิ” (特選漫才大会)และในครั้งนั้นเองที่อักษรที่ใช้สะกดคำว่ามันสะอิเปลี่ยนจาก 万歳 เป็น 漫才 กล่าวกันว่ามันสะอิของโตเกียวเน้นความคมคายของบทสนทนา ต่างจากโอซาก้าที่มีรูปแบบอิสระ สร้างความขบขันแบบเข้าใจง่าย ผู้แสดงมักเล่นเป็นฝ่ายรุก หรือ ท์ซุกโกะมิ(ツッコミ)กับฝ่ายรับ หรือ โบะเกะ(ボケ)โดยนำเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาเป็นกลยุทธ์นำเสนอให้สนุกมากขึ้น
ภัทร์อร พิพัฒนกุล
รายการอ้างอิง
興津要(1985)『日本を知る事典』社会思想社, pp. 664-665