ศาสนาพุทธ 仏教

ศาสนาพุทธหรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “บุท์ซุโด”(仏道)ซึ่งแปลว่า “วิถีของพระพุทธเจ้า” ได้เผยแผ่เข้ามาในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการประมาณปี ค.ศ.552 โดยผ่านมาทางคาบสมุทรเกาหลีในรัชสมัยของจักรพรรดิคิมเมะอิ(欽明天皇, ค.ศ.540-571)ในตอนนั้นคาบสมุทรเกาหลีได้ส่งราชทูตมาญี่ปุ่นพร้อมกับนำพระพุทธรูปและพระสูตรมาถวายพระจักรพรรดิด้วย หลังจากการโต้แย้งในราชสำนักระหว่างตระกูลที่มีอำนาจเรื่องการรับความเชื่อใหม่ ในที่สุดตระกูลโซะงะ(曽我)ได้รับให้เป็นผู้อุปถัมภ์ “วิถีของพระพุทธเจ้า” ศาสนาพุทธจึงเริ่มหยั่งรากลงในแผ่นดินญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัชสมัยของเจ้าฟ้าโฌโตะกุ(聖徳太子, ค.ศ.573-621)ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระจักรพรรดินีซุอิโกะ(推古天皇)เป็นต้นมา

 

ศาสนาพุทธจากจีนที่เข้ามาเผยแผ่ในญี่ปุ่นในระยะแรกแม้ว่าจะเป็นนิกายมหายาน(大乗仏教)ซึ่งประกอบด้วยนิกายย่อย ๆ แต่ก็พบว่ามีคำสอนของพุทธศาสนาดั้งเดิม(Early Buddhism)เป็นพื้นฐาน เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาทุกนิกายมิได้ต่างกัน กล่าวคือ มุ่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแต่มีวิถีการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น ในสมัยนะระ(ค.ศ.710-784)นิกายริท์ซุ(律宗)ยึดการปฏิบัติตามพระวินัยเป็นหลัก นิกายซันรน(三論宗)เน้นการแสวงหาความจริงสูงสุด ในสมัยเฮอัน(ค.ศ.794-1185)มีพระภิกษุสองรูป คือ ซะอิโช(最澄, ค.ศ.767-822)และ คูกะอิ(空海, ค.ศ.774-835)ได้นำศาสนาพุทธนิกายใหม่สองนิกายจากจีนเข้ามาญี่ปุ่นตามลำดับ ได้แก่ นิกายเท็นดะอิ(天台宗)และนิกายฌิงงน(真言宗)นิกายฌิงงนมี วัดโทจิ(東寺)และวัดบนเขาโคยะ(高野山)เป็นศูนย์กลาง คำสอนและการปฏิบัติของนิกายฌิงงนประกอบด้วยการสวดมนต์(mantra, マントラ)ทำสมาธิ (meditation, 瞑想)และ มุทรา(mudra, 印相)ซึ่งเป็นการแสดงท่ามือประกอบขณะสวดมนต์และทำสมาธิโดยมีพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะ(大日如来)เป็นอารมณ์แห่งจิต ส่วนนิกายเท็นดะอิมีลักษณะผสมผสานความคิดและการปฏิบัติหลายแบบเข้าด้วยกัน ได้แก่ การบูชาพระพุทธเจ้าศากยมุนี พระพุทธเจ้าอมิตาภะ การสวดพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร การรักษาศีล และทำสมาธิ รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นิกายเหล่านี้จำกัดการศึกษาและการปฏิบัติเฉพาะในอาราม ยังมิได้เผยแผ่ออกสู่สามัญชนทั่วไปมากนัก

 

เมื่อมีการย้ายศูนย์กลางทางการเมืองจากเกียวโตไปยังเมืองคะมะกุระในคริสต์ศตวรรษที่ 12(ค.ศ.1185-1333)“พุทธศาสนาใหม่สมัยคะมะกุระ” สามนิกายได้ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการ นิกายทั้งสามได้แก่ นิกายโจโดะ(浄土宗)หรือนิกายสุขาวดี(Pure Land Sect)นิกายเซ็น(禅宗)และนิกายนิชิเร็น(蓮宗)ถึงแม้ว่าพระภิกษุผู้ก่อตั้งนิกายเหล่านี้สืบทอดความคิดมาจากศาสนาพุทธในสมัยเฮอันและสมัยก่อนหน้านั้น แต่ก็ได้เสนอคำสอนและการปฏิบัติที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของสามัญชนและกลุ่มนักรบหรือซามูไรมากกว่าคำสอนเดิม คำสอนของพุทธศาสนาใหม่ทั้งสามนิกายจึงแพร่หลายไปยังประชาชนในสมัยนั้นอย่างรวดเร็ว และยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสถาบันหรือองค์กรทางศาสนามากนัก แต่สำหรับผู้ที่ยืนยันว่านับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่แล้วจะรับนิกายใดนิกายหนึ่งที่สืบมาจากพุทธศาสนาสมัยคะมะกุระ แต่ก็มีที่นับถือนิกายเท็นดะอิหรือฌิงงนด้วย

 

พัฒนาการแรกของศาสนาพุทธสมัยคะมะกุระ ได้แก่ นิกายสุขาวดีที่มีโฮเน็น(法然, ค.ศ.1132-1212) เป็นผู้ก่อตั้งนิกายในปี ค.ศ.1175 การปฏิบัติที่สำคัญของนิกายสุขาวดีคือการสวดพระนามพระอมิดะ (Amida Buddha)หรือพระพุทธเจ้าอมิตาภะ(阿弥陀如来)ด้วยความศรัทธา แน่วแน่ มั่นคงและจริงใจ โดยถือว่าเป็นมรรควิธีเดียวเท่านั้นในการหลุดพ้นจากสังสารวัฏและอุบัติ ณ แดนสุขาวดี การสวดพระนามนี้เรียกว่า “การสวดเน็มบุท์ซุ”(念仏)ด้วยการเปล่งวาจาว่า “นะมุ อมิดะ บุท์ซุ”(南無阿弥陀仏)ซึ่งมีความหมายตามบริบทว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้าอมิตาภะด้วยความศรัทธาอย่างจริงใจ” ในเวลาต่อมาฌินรัน(親鸞, ค.ศ.1173-1262)ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของโฮเน็นได้ทำให้การสวดเน็มบุท์ซุแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่นิกายสุขาวดีแพร่หลายในกลุ่มสามัญชน พุทธศาสนานิกายฌาน(Ch’an)จากจีน(ในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายเซ็น)ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในสมัยคะมะกุระด้วย ผู้ที่ทำให้นิกายฌานแพร่หลายในญี่ปุ่นคือ เอะอิซะอิ(栄西, ค.ศ.1141-1215)และ โดเก็น(道元, ค.ศ.1200 -1253)ทั้งสองท่านคือผู้ก่อตั้งสำนักรินสะอิ(臨済宗)และสำนักโซโต(曹洞宗)ในญี่ปุ่นตามลำดับ ความคิดสำคัญของสำนักรินซะอิ คือ การฝึกโคอัน(公案หรือปริศนาธรรม)เป็นวิถีแห่งการบรรลุธรรมหรือซะโตะริ(悟り)และมีการบำเพ็ญสมาธิที่เรียกว่าสะเส็น(座禅)ควบคู่ไปด้วย ปริศนาธรรมเก่าแก่ที่รู้จักกันดีได้แก่ “มุมงกัน”(無門関)รวบรวมโดยฌินชิ คะกุฌิน หรือ มุฮน(心地覚心 หรือ 無本, ค.ศ.1207-1298)ส่วนโดเก็นแห่งสำนักโซโตแม้มิได้ปฏิเสธปริศนาธรรม แต่มีความเห็นว่าในท้ายที่สุดสะเส็นเป็นวิถีเดียวเท่านั้นสำหรับการบรรลุธรรมซึ่งเป็นมรรควิธีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ คำสอนและการปฏิบัติของเซ็นแพร่หลายในกลุ่มทหารและหมู่นักรบมากกว่ากลุ่มสามัญชน เนื่องจากคำสอนของเซ็นที่เน้นความมีระเบียบวินัย การฝึกฝนตนเอง ความอดทน และความสงบของจิต เข้ากันได้กับ “วิถีของนักรบ” หรือ “บุชิโด”(武士道)

 

นิชิเร็น(日蓮, ค.ศ.1222-1282)ก่อตั้งนิกายนิชิเร็นภายหลังนิกายสุขาวดีและนิกายเซ็น คำสอนหลักของนิกายนิชิเร็นคือการสวด “นัมเมียวโฮเร็งเงะเกียว”(南無妙法蓮華経)หรือเรียกว่า “การสวดดะอิโมะกุ”(題目)ซึ่งความหมายตามบริบทของผู้ปฏิบัติคือ “ข้าพเจ้าขออุทิศชีวิตแด่พระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร” นิชิเร็นถือว่าพระสูตรนี้คือพระธรรมคำสอนที่เป็นเลิศของพระพุทธเจ้า การสวดสรรเสริญพระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร จึงเป็นวิถีแห่งความหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง นิชิเร็นมีความเห็นว่าสาเหตุของความไม่สงบในแผ่นดินเกิดมาจากการปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าผู้ปกครองประเทศและประชาชนในแผ่นดินพร้อมใจกันบูชา พระสัทธรรมปุณฑรีกสูตรแทนการปฏิบัติธรรมแบบอื่น ๆ ความผาสุกย่อมเกิดขึ้นในแผ่นดิน นิกายนิชิเร็นเผยแผ่ในหมู่ชาวบ้านสามัญชน แต่ไม่มากเท่ากับผู้นับถือพระอมิตาภะของนิกายสุขาวดี ความคิด วิถีชีวิต และกิจกรรมของนิชิเร็นไม่ได้ดึงดูดใจเฉพาะสามัญชนสมัยคะมะกุระเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาใหม่ของญี่ปุ่นที่สำคัญ ๆ ในปัจจุบันด้วย เช่น กลุ่มโซกะกักกะอิ

 

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความเชื่อทางศาสนาหลากหลาย ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเป็นเพียงความเชื่อหนึ่งของความเชื่อกระแสหลัก ซึ่งได้แก่ลัทธิชินโต ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และ ศาสนาพื้นบ้าน ความคิดความเชื่อที่หลายหลากเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลต่อกันและกันด้วย จะเห็นได้จากพัฒนาการของพุทธศาสนาที่มีการปรับความคิดและการปฏิบัติให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่คงความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งยังมีอิทธิพลในสังคมปัจจุบัน

 

ประทุม อังกูรโรหิต

 

รายการอ้างอิง
Collcutt, Martin.  Five Mountains: The Rinzai Zen Monastic Institution in Medieval Japan.  Cambridge, Massachusettes: Harvard University Press, 1981.
Earhart, H. Byron.  Religion in the Japanese Experience: Sources and Interpretations. 2nd Ed.  Belmont: Wadsworth Publishing Company, 1997.
Saunder, E. Dale.  Buddhism in Japan with an Outline of Its Origins in India.  Philadelphia: University of Pennsylvania Press, 1971.

Read more
กอล์ฟ ゴルフ

กอล์ฟ ゴルフ

中山光男 เขียน; ชมนาด ศีติสาร แปลและเขียน | Jun 1, 2020