เทพเจ้า 神

ในทัศนะของชาวญี่ปุ่น เทพเจ้าหรือคะมิ(神)หมายถึงสิ่งที่อยู่เหนือจิตสำนึกของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มาจากภายนอกสังคมและมีอำนาจไม่มีที่สิ้นสุด สามารถนำมาได้ทั้งความสุขและภัยพิบัติ ทำให้มนุษย์เคารพนับถือแต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกยำเกรง

 

มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงที่มาของคำว่า “คะมิ” หรือเทพเจ้าในภาษาญี่ปุ่น นับตั้งแต่สมัยเอโดะเป็นต้นมา นักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า คำว่า คะมิ ที่แปลว่าเทพเจ้า(神)น่าจะมีความหมายเดียวกับคะมิ(kami)ที่แปลว่าข้างบน(上)แต่ฮะฌิโมะโตะ ฌิงกิชิ(橋本新吉, 1882-1945)ผู้ศึกษาตัวอักษรญี่ปุ่นสมัยโบราณที่เรียกว่า “มันโยงะนะ”(万葉仮名)ได้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากค้นพบว่า คะมิที่แปลว่าเทพเจ้าออกเสียงว่า “kamï” ขณะที่คะมิที่แปลว่าข้างบนออกเสียงว่า “kami” ซึ่งต่อมาโอโนะ ซุซุมุ(大野晋, 1919-2008)ได้สันนิษฐานว่า “kamï” น่าจะมาจาก “kamu” และมีความหมายเดียวกับ “kōm-āņ” ซึ่งแปลว่าเทพเจ้าในภาษาทมิฬ(Tamil)โบราณ นอกจากนี้ก็ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ อีกเช่น “คะมิ” มีรากศัพท์เดียวกับ “คะมุอิ”(カムイ)ที่แปลว่าเทพเจ้าในภาษาไอนุ หรือ “Kam” ในภาษาตุรกีโบราณ

   

โดยทั่วไปคำว่าเทพเจ้าหรือคะมิ หมายถึงเทพเจ้าของชินโต(神道)แต่ก็มีการใช้คำดังกล่าวเรียกเทพเจ้าของฮินดูที่เข้ามายังประเทศญี่ปุ่นผ่านทางศาสนาพุทธ นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ คะมิยังถูกใช้เพื่อแปลคำว่า God ในคริสต์ศาสนาทั้งที่มีลักษณะต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งลักษณะเด่นของคะมิหรือเทพเจ้าของญี่ปุ่นสามารถสรุปได้ดังนี้
1. เทพเจ้าของญี่ปุ่นมีจำนวนมากไม่ใช่หนึ่งเดียวดังคำว่า “ยะโอะโยะโระสุ โนะ คะมิ”(八百万の神)มีความหมายว่า เทพเจ้าจำนวนเหลือคณานับ)เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนมีเทพเจ้าสิงสถิต เช่น เทพแห่งภูเขา ทะเล ดิน หิน ลม ไฟ พระอาทิตย์ พระจันทร์ สายฟ้า เมฆ ต้นไม้ สัตว์ ต่อมาความคิดดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปยังชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้เกิดเทพเจ้าประจำบ้าน หมู่บ้าน ท้องถิ่น วงศ์ตระกูล เทพเจ้าผู้ก่อให้เกิดโรคภัย การเกิด การเลือกคู่ครอง การทำนา การล่าสัตว์ การเกษตร ที่เก็บของ ส้วม เตาไฟ ฯลฯ 
2. เทพเจ้าไม่มีรูปร่าง จึงไม่อาจมองเห็น มนุษย์รับรู้ถึงการมีอยู่ของเทพเจ้าทำได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ลม สายฟ้า หรือสิ่งของที่เทพเจ้าลงมาสถิตซึ่งเรียกว่า “โกะฌินตะอิ”(御神体)เช่น กระจก ดาบ ก้อนหิน คนทรง แต่เมื่อมีการรับอิทธิพลของศาสนาพุทธ จึงมีการสร้างรูปสักการะของเทพเจ้าเช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูป 
3. เทพเจ้าไม่ประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะล่องลอยไปเรื่อย ๆ บางครั้งลงจะมาสิงสถิตยัง “โกะฌินตะอิ” เมื่อได้รับเชิญ เช่น การอัญเชิญเทพเจ้ามาในงานพิธีต่าง ๆ ของชินโต นอกจากนี้ยะนะงิตะ คุนิโอะ(柳田国男, 1875-1962)ผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านคติชนวิทยาของญี่ปุ่นยังได้เน้นย้ำถึงวัฏจักรของการเคลื่อนที่ของเทพเจ้าว่า เทพบรรพบุรุษอันเกิดจากดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตและเป็นเทพเจ้าผู้เกี่ยวข้องกับการรูปแบบดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นมากที่สุดนั้นโดยปกติแล้วจะสถิตอยู่บนภูเขา แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิจะกลายเป็นเทพแห่งท้องนาและลงมาสถิตในหมู่บ้านเพื่อดูแลการทำการเกษตร และกลับขึ้นไปยังภูเขาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จในฤดูใบไม้ร่วง 
4. เทพเจ้าคือผู้ครอบครองสถานที่และสิ่งของ เช่น ภูเขา เนิน เนินกลางแม่น้ำ คนโบราณจึงเชื่อว่า เวลาจะเดินผ่านที่เหล่านี้ต้องขออนุญาตจากเทพเจ้าก่อน หรือแม้แต่ห้องครัวก็มีเทพโคจิน(荒神)ซึ่งคอยดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟอยู่ ในครัวจึงมักมีหิ้งเพื่อบูชาเทพเจ้าดังกล่าว
5. เทพเจ้ามีทั้งด้านดีและด้านร้าย เพราะเทพเจ้ามีที่มาจากวิญญาณ(タマ)ซึ่งมีทั้งด้านที่อ่อนโยนและให้คุณ(和魂)กับด้านที่รุนแรงและนำภัยพิบัติมาให้(荒魂)เทพเจ้าจึงแบ่งออกเป็นด้านดี(神)และด้านร้าย(鬼 หรือ 物)เช่นเดียวกับวิญญาณ   

 

เมื่อมองในเชิงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะพบว่า เทพเจ้าในธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่ในความเชื่อของชาวญี่ปุ่นมานานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และเป็นรากฐานของชินโต ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคราชวงศ์ปกครองประเทศ เริ่มมีการยกย่องบุคคลสำคัญ เช่น ผู้นำ นักปราชญ์ให้เป็นเทพเจ้าภายหลังเสียชีวิต เช่น ซุงะวะระ โนะ มิชิสะเนะ(菅原道真)โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะฌิ(豊臣秀吉)โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ(徳川家康) โมะโตะโอะริ โนะรินะงะ(本居宣長)หลังจากนั้นนักวิชาการในสมัยเอโดะชื่อ ฮิระตะ อะท์ซุตะเนะ(平田篤胤)ได้นำแนวคิดของ God ของศาสนาคริสต์มาใช้กับเทพเจ้าของญี่ปุ่น ด้วยการยกย่องให้เทพอะเมะโนะมิกะตะนุฌิเป็น “พระผู้สร้าง” ของชินโต และเมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ มีการนำแนวคิดทางศาสนาไปผนวกกับแนวคิดทางการเมือง ส่งผลให้จักรพรรดิกลายเป็น “เทพเจ้าที่ยังมีชีวิต”(現人神)ผู้เป็นทั้งพระผู้สร้างและผู้มีอำนาจทุกอย่าง อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1946 จักรพรรดิโฌวะ(昭和天皇)ได้ทรงประกาศยกเลิกความเป็นเทพเจ้าในพระบรมราชโองการที่รู้จักกันทั่วไปในนามว่า “ประกาศความเป็นมนุษย์”(人間宣言)ทำให้แนวคิดที่ว่าจักรพรรดิคือ “เทพเจ้าที่ยังมีชีวิต” สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นความเชื่อหลักในวัฒนธรรมญี่ปุ่นสืบต่อมาจนทุกวันนี้

 

ชมนาด ศีติสาร

 

รายการอ้างอิง
大野晋 (1997)『神』三省堂
鈴木正崇 (1999)「神」『日本民俗大辞典』上、吉川弘文館

Read more