ศาสนาใหม่ 新宗教

“ศาสนาใหม่” เป็นคำที่นักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเริ่มใช้เรียกปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของกลุ่มศาสนาใหม่จำนวนมากมายราวกับดอกเห็ดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตทางสังคมและเศรษฐกิจ ตกอยู่ในสภาวะไร้ที่อยู่อาศัย ขาดปัจจัยในการดำรงชีวิต ขวัญเสียและขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเมืองการปกครอง ผู้คนขาดที่พึ่งทางจิตวิญญาณเหล่านี้จึงหันไปหาที่พึ่งทางศาสนาหรือความเชื่อใดก็ตามที่สามารถอำนวยผลประโยชน์ให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ถ้าพิจารณาการเกิดขึ้นของศาสนาใหม่ในญี่ปุ่นตามกรอบของเวลาจะสามารถแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 4 ระยะดังนี้คือ ระยะแรกเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยโทะกุงะวะ (ค.ศ.1615-1868) ระยะที่สองอยู่ในสมัยเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ระยะที่สามประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และระยะที่สี่คือกลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

คำสอนและการปฏิบัติของศาสนาใหม่ในระยะแรกเริ่มมาจากความเชื่อเรื่องการบูชาเทพเจ้าแห่งขุนเขา เช่นสำนักฟูจิโก(富士講)แต่รากฐานทางศาสนาและความเชื่อที่สำคัญของกลุ่มศาสนาใหม่ในเวลาต่อมาได้แก่(1)ลัทธิชินโต(神道)เช่น เท็นริเกียว(天理教)คุโระสุมิ เกียว(黒住教)(2)พุทธศาสนา เช่น โซกะกักกะอิ(創価学会)ริซโฌ โคเซะอิกะอิ(立正佼成会)บุท์ซุรีวฌู(仏立宗)(3)ผสมผสานคำสอนของศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น พีแอลเคียว(PL教 หรือ パーフェクト  リバティー(Perfect Liberty)教団)เซะกะอิ คีวเซะอิเกียว(世界救世教) 

 

ในภาพรวมศาสนาใหม่มีลักษณะสำคัญดังนี้คือ(1)ผู้ก่อตั้งสำนักและผู้นำของศาสนาใหม่มีลักษณะความเป็นผู้นำสูง ผู้ก่อตั้งศาสนาใหม่ส่วนมากอ้างว่าได้รับการเผยแสดงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ จากเทพเจ้าในลัทธิชินโต หรือแม้แต่จากพระเจ้าในศาสนาคริสต์ให้มาช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ หรือช่วยรักษาให้หายจากโรคร้ายต่างๆ เช่น นะกะยะมะ มิกิ(中山みき, ค.ศ.1798-1887)ผู้ก่อตั้งเท็นริเกียวในปี ค.ศ.1838 อ้างว่าได้รับการเผยแสดงจากเทพเจ้าหรือคะมิ(神)ให้มารักษาคนเจ็บ(2)คำสอนและการปฏิบัติไม่ซับซ้อน และสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำสอนของโซกะกักกะอิที่ก่อตั้งโดย มะกิงุชิ ท์ซุเนะซะบุโร(牧口常三郎, ค.ศ.1871-1944)เรื่องการสร้างคุณค่าให้ชีวิตด้วยการสวด “นัมเมียวโฮเร็งเงะเกียว” (3)ศาสนาใหม่ส่วนใหญ่เน้นการมองโลกในแง่ดี แม้แต่ในสิ่งที่ศาสนากระแสหลักเห็นว่าเป็นเรื่องน่าวิตก เช่นเรื่องความเสื่อมของพระธรรมในยุคธรรมะปลาย หรือ มัปโป(末法)สำนักเซะกะอิ คีวเซะอิเกียว อธิบายว่าแทนที่จะหมดหวังกับสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจของสังคมปัจจุบัน มนุษย์เราควรมาช่วยกันทำความดีเพื่อเป็นการต้อนรับการมาโปรดสัตว์ของพระศรีอาริย์ในอนาคต อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการและสาธารณชนเห็นว่ากลุ่มศาสนาใหม่อาจกลายเป็นปัญหาสังคม เช่นกรณีของ โอม ฌินริเกียว(オーム真理教)ที่ก่อตั้งสำนักในปี ค.ศ.1989 โดยมะท์ซุโมะโตะ ชิสุโอะ(松本智津夫)หรือ อะซะฮะระ โฌโก(麻原彰晃)กลุ่มสาวกได้ปล่อยก๊าซพิษบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินและทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต แม้ว่าปัจจุบันทางราชการได้สั่งให้ยุบสำนักไปแล้ว แต่เหตุการณ์เช่นนี้มีผลต่อภาพลักษณ์ของศาสนาใหม่และสวัสดิภาพของสังคมโดยส่วนรวมที่สูญเสียสันติภาพและความสงบในชีวิต(4)คำสอนของศาสนาใหม่เกือบทุกสำนักเน้นประโยชน์ปัจจุบันมากกว่าโลกหน้า เช่นการสร้าง “สวรรค์บนพื้นพิภพ” และการใช้แสงทิพย์ในการรักษาโรคของสำนักเซะกะอิ คีวเซะอิเกียว(5)คำสอนของศาสนาใหม่ยกย่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทำให้สมาชิกเกิดความภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นที่ต้องการของกลุ่ม เช่น กลุ่มศาสนาใหม่ที่รับพุทธศาสนานิกายนิชิเร็น อธิบายว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในความสามารถและศักยภาพในการปฏิบัติและบรรลุพุทธภาวะ(6)คำสอนของศาสนาใหม่ส่วนใหญ่มีการผสมผสานความเชื่อจากหลายนิกายเข้าด้วยกัน ยกเว้นสมาคมโซกะกักกะอิที่รับความคิดของนิชิเร็นเท่านั้น คำสอนที่ครอบคลุมเช่นนี้มีผลดีในแง่ที่ทำให้แต่ละกลุ่มยอมรับซึ่งกันและกันในลักษณะของการรักษาจุดยืนของตน แต่ก็เห็นจุดที่แตกต่างกัน มีขันติธรรมต่อกัน เช่น สำนัก โคฟุกุ โนะ คะงะกุ(幸福の科学)มีฐานความคิดจากพุทธศาสนานิกายฌิงงนของคูกะอิ พระเยซูคริสต์ และโสเครตีส

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาใหม่ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นฆราวาสเป็นส่วนใหญ่ การพึ่งพาวัดและพระสงฆ์มีน้อยมากหรือเกือบจะไม่มีเลย การปฏิบัติธรรมที่เป็นกิจวัตรทำได้ตามบ้านสมาชิก ยกเว้นเวลามีพิธีกรรมพิเศษจึงจัดที่ศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ของศาสนานั้น ๆ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าชีวิตทางธรรมกับชีวิตประจำวันไม่แยกจากกัน ธรรมะไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในสังฆาราม ตัวอย่างเช่นสมาคมโซกะกักกะอิอธิบายว่าที่ใดที่มีการสวด “นัมเมียวโฮเร็งเงะเกียว” ที่นั่นย่อมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า คะอิดัน(戒壇)ซึ่งคำนี้แต่เดิมหมายถึงพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีอุปสมบท เป็นต้น 

 

การเสนอโลกทัศน์ที่ครอบคลุมความสุขของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นการมองโลกที่ขยายวงกว้างออกไปในระดับโลก มิใช่เพียงแค่ในระดับชุมชนหรือประเทศของตนเท่านั้น การเชื่อมโยงคำสอนกับค่านิยมอื่นในสังคม เช่น ขันติธรรม ความสำเร็จ ความงาม สันติภาพ สภาวะแวดล้อม เหล่านี้ทำให้ศาสนาใหม่กับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันมีความสอดคล้องและเอื้อต่อกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากคนญี่ปุ่นเองแล้วยังมีผลต่อการเผยแผ่คำสอนออกไปในระดับนานาชาติด้วย

 

การเผยแผ่ศาสนาหรือความเชื่อของกลุ่มถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของวัดหรือกิจของสงฆ์ การสวดมนต์หรือปฏิบัติศาสนกิจเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลส่วนบุคคล การเผยแผ่คำสอนให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ยิ่งเป็นการสะสมบุญมากขึ้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องทางศาสนา กลุ่มศาสนาใหม่เกือบทุกกลุ่มพยายามหากลยุทธ์เชิงรุกเพื่อหาสมาชิกใหม่ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ธรรมะและความเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ บางกลุ่มมีสำนักพิมพ์ของตนเองและมีการใช้โฮมเพจเพื่อแนะนำคำสอนแก่บุคคลภายนอก ส่วนในด้านการปฏิบัติศาสนกิจ ศาสนาใหม่มักมีการเพิ่มองค์ประกอบอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการขับร้อง ฟ้อนรำ และการใช้เวทมนตร์ จะเห็นว่าองค์ประกอบที่เพิ่มเข้าไปนี้มีส่วนทำให้พิธีกรรมทางศาสนาเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจสมาชิกและบุคคลทั่วไปมากขึ้น 

 

ศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่เพียงแต่เสนอทางออกที่สะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ “ส่วนบุคคล” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำได้ที่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังมีผลให้สมาชิกขององค์กรมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมการปฏิบัติศาสนกิจในระดับ “กลุ่ม” อีกด้วย
           

ประทุม อังกูรโรหิต

 

รายการอ้างอิง
Earhart, H. Byron.  Japanese Religion: Unity and Diversity.  Belmont: Wadsworth Publishing Company, 1982.
Mullins, Mark R., Susumu, Shimazono and Swanson, Paul L.  Religion & Society in Modern Japan.  Berkeley: Asian Humanities Press, 1993.
Thomsen, Harry.  The New Religions of Japan.  Tokyo: Charles E. Tuttle Company, 1963.
 

Read more