มะท์ซุโอะ บะโฌ(松尾芭蕉, ค.ศ. 1644 – 1694)

มะท์ซุโอะ บะโฌเป็นกวีไฮกุ (俳句) สมัยเอะโดะ (江戸) เกิดในอำเภออิงะ (伊賀) จังหวัดมิเอะ (三重) ในปัจจุบัน ชื่อในวัยเด็กของเขาคือ คินซะกุ (金作) ชื่อที่ใช้ในฐานะซามูไรคือ มุเนะฟุซะ (宗房) นามแฝงที่ใช้ในการแต่งบทกวีไฮไก คือ โซโบ (宗房), โทเซะอิ (桃青), และบะโฌ (芭蕉) บะโฌเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานบทกวีไฮกุที่มีรูปแบบความเป็นศิลปะสูงเรียกว่า บทกวีไฮกุตามแบบของโฌฟู (蕉風) เขาได้รับการเรียกขานว่าเป็นปราชญ์แห่งบทกวีไฮกุ

 

บะโฌ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1644 เป็นบุตรชายคนที่สองของครอบครัว บิดาชื่อ มะท์ซุโอะ โยะสะเอะมน (松尾与左衛門) กับมารดาชื่อ อุเมะ (梅) ตระกูลมะท์ซุโอะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเป็นตระกูลที่เก่าแก่ สำหรับสถานที่กำเนิดของบะโฌนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นที่อุเอะโนะอะกะซะกะ(上野赤坂)  (อำเภออุเอะโนะ (上野) จังหวัดมิเอะ) หรือ อิงะ โคชิ เนื่องจากบิดาเสียชีวิตเมื่อบะโฌอายุได้ 13 ปี ทำให้เขามีชีวิตช่วงวัยเด็กที่ลำบาก ต้องทำงานเป็นข้ารับใช้ อุเอะโนะ โยฌิตะดะ (藤堂良忠) ซามูไรแห่งแคว้นอิงะ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขาเพียง 2 ปี เขาและโยฌิตะดะร่ำเรียนไฮไกกับ คิตะมุระ คิกิน (北村季吟) ด้วยกัน ไฮกุที่เขาแต่งในวันส่งท้ายปีเก่า ปี ค.ศ.1662 ได้แก่ ฮะรุยะโกฌิ โทะฌิยะยุเก็น โคะสุโงะโมะริ (春や来し年や行けん小晦日) เป็นไฮกุที่เก่าแก่ที่สุดที่ทราบวันเดือนปีที่แต่ง ในปี ค.ศ. 1664 ไฮกุของเขาได้รับเลือกให้รวมไว้ในรวมบทกวีไฮกุ  ซะโยะนะกะยะมะฌู (佐夜中山集) ต่อมาในปี ค.ศ. 1666  เมื่อโยฌิตะดะเสียชีวิต เขาจึงเลิกเป็นซามูไรรับใช้ ในปี ค.ศ. 1672 เขาได้นำผลงานรวมบทกวีไฮกุเล่มแรกของเขา ที่ชื่อ คะอิโอะโอะอิ (貝おほひ,1672)  ไปบวงสรวงต่อศาลเจ้าอุเอะโนะ เท็นมังงู (上野天満宮) อยู่ในจังหวัดมิเอะในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1675 เขาได้เดินทางไปเอะโดะ ต่อมาในปี ค.ศ. 1678 เขาได้ออกบวชเป็นพระ  และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักแต่งไฮไกหรืออาจารย์ไฮไก ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ไฮไกฌิ (俳諧師) ปี ค.ศ. 1680 เขาสร้างกระท่อมที่ทำมาจากฟางและพักอาศัยอยู่ที่นั่น ลูกศิษย์ของเขาชื่อ ริกะ(李下) ได้มอบต้นกล้วยกอหนึ่งซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า บะโฌ ให้เขาปลูกไว้ที่กระท่อม ซึ่งแตกหน่อมากมายไปทั่วบริเวณ จึงเรียกชื่อกระท่อมนี้ว่า บะโฌอัน (芭蕉庵 แปลว่า กระท่อมต้นกล้วย)

 

เขาต้องสูญเสียกระท่อมแห่งนี้ไปเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เอะโดะในปีเท็นนะ (天和) ( ปี ค.ศ. 1682) ปีที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยผู้ก่อเหตุวางเพลิงคือ โอะฌิชิ (お七) แห่งร้านค้าผักผลไม้สด เขาต้องไร้ที่อยู่อาศัย จึงไปพึ่งพิงอยู่กับเด็นเอะมน (伝右衛門) ผู้เป็นซามูไรพ่อบ้านของผู้ครองแคว้นคะอิ (甲斐国)

 

เขาเริ่มออกเดินทางเป็นระยะ แต่ละครั้งเขาจะเขียนบันทึกการเดินทางโดยใช้รูปแบบการเขียนแบบไฮไก บันทึกสอดแทรกบทกวีไฮกุที่มีท่วงทำนองการเขียนแบบไฮไก คือบันทึกเป็นร้อยแก้วที่สอดแทรกบทกวีไฮกุที่เขาแต่งเองเอาไว้ เริ่มจากบันทึกเรื่อง โนะสะระฌิ คิโก (野ざらし紀行, 1684)  คะฌิมะ คิโก (鹿島紀行, 1687)  โอะอิ โนะ โกะบุมิ (笈の小文, 1688) และซะระฌินะ คิโก (更科紀行, 1688)

 

ในวันที่ 27 เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1689 เขาออกเดินทางอีกครั้งพร้อมด้วยลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อ คะวะอิ โซระ (河合曾良) ได้ออกเดินทางจากเอะโดะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางตอนเหนือของเกาะฮนฌู (本州) ผ่านมาทางจังหวัดกิฟุ (岐阜) และได้เขียนบันทึกบทกวีไฮกุขึ้น ชื่อ โอะกุ โนะ โฮะโซะมิชิ (奥の細道) เขาได้จบการเดินทางเมื่อมาถึงโอะงะกิ(大垣)  และเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่อิงะ อุเอะโนะ แต่แล้วในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1690  เขาก็ได้รับคำเชิญชวนจากลูกศิษย์คนหนึ่งที่อยู่ที่ โอมิ (近江) ชื่อ เคิยวกุซุอิ (曲翠) ได้เข้าพักอาศัยที่กระท่อมเก็นจูอัน (幻住庵) ที่จังหวัดฌิงะ (滋賀) เป็นเวลา 4 เดือน  

 

ในปี ค.ศ. 1691 เขาได้ย้ายเข้าไปอาศัยในกระท่อมชื่อ มุเมะอิอัน (無名庵) ที่อะวะท์ซุ (粟津) และย้ายไปอยู่ที่ระกุฌิฌะ (落柿舎) ที่ซะกะโนะ (嵯峨野) เกียวโต ที่นี่เขาและเหล่าลูกศิษย์ได้ร่วมกันรวบรวมเรียบเรียงหนังสือรวมบทกวีไฮกุ ชื่อ ซะรุมิโนะ (猿蓑) ซึ่งบทที่ 6 ในหนังสือรวมบทกวีไฮกุเล่มนี้ได้แก่ บันทึกเก็นจูอัน(幻住庵記)  หลังจากนั้นเขาได้กลับไปเอะโดะอีกครั้ง

 

บะโฌเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ตลอดชีวิตของเขา แม้แต่ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาออกเดินทาง และล้มป่วยจนเสียชีวิตระหว่างทางขณะที่พักในเรียวกัง (ที่พักแรมแบบญี่ปุ่น) ของ ฮะนะยะนิซะเอมน (花屋仁左衛門) ที่ถนนมิโดซุจิ (御堂筋) ในเมืองโอซากา และแต่งบทกวีไฮกุบทหนึ่งในวาระสุดท้ายว่า ทะบินิยันเดะ ยุเมะวะ คะเระโนะ โวะ คะเกะมะวะรุ (旅に病んで夢は枯野をかけ廻る)

 

บะโฌเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 51 ปี สุสานของเขาตั้งอยู่ที่ วัดกิชูจิ (義仲寺)  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโอท์ซุ (大津)  ข้าง ๆ สุสานของคิโสะ โยะฌินะกะ (木曽義仲) ตามคำสั่งเสียของเขา

 

ผลงานไฮกุที่มีชื่อเสียง ได้แก่ 古池や蛙飛びこむ水の音 (The splash of water in an ancient pond / a frog jumps) 

 

ผลงานบันทึกการเดินทางที่มีชื่อเสียงได้แก่ คะอิโอะโอะอิ (貝おほひ,1672), โนะสะระฌิ คิโก (野ざらし紀行, 1684), โอะกุ โนะ โฮะโซะมิชิ (奥の細道,1694)

 

กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

 

เอกสารอ้างอิง

桜井武次郎 (1993) 松尾芭蕉『近世文学研究事典』桜楓社
大谷篤蔵, 中村俊定 (1977)「芭蕉句集」『日本古典文学大系45』岩波書店
 

Read more