โทะซะนิกกิ 土佐日記

โทะซะนิกกิ เป็นวรรณกรรมในรูปแบบบันทึกประจำวันที่ทรงคุณค่าทางวรรณคดีและเป็นแหล่งข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในสมัยโบราณ วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนขึ้นในสมัยเฮอัน ราวปี ค.ศ.936 ผู้แต่งคือ คิ โนะ ท์ซุระยุกิ (紀貫之)เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับราชการที่เมืองโทะซะ(土佐)ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดโคชิ(高知県)บนเกาะชิโกะกุ(四国)เมื่อปี ค.ศ.930 และเดินทางกลับเกียวโต(京都)เมืองหลวงเมื่อค.ศ.935 หลังจากกลับถึงเมืองหลวงแล้วจึงได้เขียนบันทึกย้อนหลังถึงการเดินทางโดยเรือจากเมืองโทะซะกลับมายังเมืองหลวง โดยได้สมมติตัวเป็นหญิงและเขียนบันทึกนี้ขึ้นด้วยตัวอักษรฮิระงะนะ ผู้เขียนได้บรรยายถึงชีวิตความเป็นอยู่บนเรือ ความกลัวภัยจากโจรสลัด ภัยจากธรรมชาติในระหว่างการเดินเรือ และยังพรรณนาถึงความอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากบุคคลที่เคยอยู่ด้วยกันมาที่เมืองโทะซะ ตลอดจนความโศกเศร้าที่บุตรสาวซึ่งพามาอยู่ที่เมืองโทะซะด้วยกันได้เสียชีวิตลง และไม่มีโอกาสได้กลับไปเมืองหลวง

 

ผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ด้วยร้อยแก้วแทรกด้วยบทกลอนญี่ปุ่น ตัวละครบางตัวและสถานการณ์บางตอนได้ถูกสมมติขึ้นเพื่อให้เนื้อเรื่องมีลักษณะคล้ายนิยายทั่วไป แต่จะมีวันเดือนปีกำกับไว้อย่างชัดเจนตามลักษณะบันทึกประจำวัน มีการพรรณนาอารมณ์สะเทือนใจด้วยบทกลอนวะกะ(和歌) วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนด้วยตัวอักษรคะนะของญี่ปุ่นซึ่งแต่เดิมญี่ปุ่นมักนิยมใช้ตัวอักษรจีนในการเขียนบันทึก ในสมัยนั้นผู้ชายเท่านั้นที่จะเรียนรู้อักษรจีน ส่วนผู้หญิงจะใช้ตัวอักษรคะนะ ผู้เขียนเรื่องนี้ซึ่งเป็นชายได้สมมติตนเองเป็นหญิงเขียนบันทึกประจำวันนี้ขึ้นมา หลังจากที่วรรณกรรมเรื่องนี้ถือกำเนิด ก็ได้มีสตรีเขียนวรรณกรรมประเภทบันทึกแบบนี้ขึ้นมาอีกมากมายหลายเรื่อง จึงนับว่าโทะซะนิกกิเป็นแม่แบบวรรณกรรมประเภทบันทึกของญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับเมืองต่าง ๆ ในสมัยโบราณของญี่ปุ่นอีกด้วย

 

 อรรถยา สุวรรณระดา

Read more