คัมบุน 漢文

คำว่า คัมบุน ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายตามตัวอักษรว่า “งานเขียนของจีนในสมัยฮั่น” คำว่า kan(漢)ซึ่งแต่เดิมหมายถึงชนชาติฮั่นที่ผู้นำได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองแผ่นดินจีนนั้น ภายหลังหมายถึงชาวจีนทั้งหมด คำว่า คัมบุน จึงมีความหมายว่า “งานเขียนของจีน” แต่จำกัดเฉพาะงานเขียนในสมัยโบราณ

 

คำว่า คัมบุน ในภาษาญี่ปุ่นมีใช้ในหลายความหมาย ทั้งในความหมายกว้างและแคบ และขึ้นอยู่กับบริบทหรือผู้ใช้ จนในบางครั้งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใช้หมายถึงอะไร คำว่าคัมบุน ในความหมายแคบ หมายถึง งานเขียนภาษาจีนโบราณที่คนจีนเป็นผู้เขียนตัวอย่างงานเขียนที่คนไทยรู้จักได้แก่ คัมภีร์เต้าเต๋อจิง(道徳経)ของท่านปรัชญาเมธีโบราณเหลาจื่อ(老子)เป็นต้น

 

คำว่า คัมบุน ในความหมายกว้าง โดยทั่วไปจะหมายถึงงานเขียนสองประเภท คือ ประเภทแรกหมายถึงงานเขียนภาษาจีนโบราณที่คนจีนเป็นผู้เขียน และประเภทที่สองหมายถึงงานเขียนที่คนญี่ปุ่นในสมัยโบราณเขียนโดยใช้เฉพาะอักษรคันจิ และมีโครงสร้างแบบเดียวกับภาษาจีนโบราณหรือใกล้เคียงภาษาจีนโบราณด้วย 

 

ตัวอย่างคัมบุนที่คนญี่ปุ่นเขียน หรือ นิฮงคัมบุน(日本漢文)ได้แก่ ชุมนุมบทกวีจีนคะอิฟูโซ(懐風藻) คำนำชุมนุมบทกวีโคะกิงวะกะฌู(古今和歌集)บันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนิฮงงะอิฌิ(日本外史)และบทกวีจีนโบราณของนะท์ซุเมะ โซเซะกิ(夏目漱石, ค.ศ. 1867-1916)นักเขียนนวนิยายผู้มีชื่อเสียง เป็นต้น

 

คำว่าคัมบุนในความหมายกว้าง ในบางกรณียังรวมงานเขียนที่คนเกาหลีและเวียดนามในสมัยโบราณเขียน โดยใช้เฉพาะอักษรคันจิแทบทั้งหมดและมีโครงสร้างแบบเดียวกับภาษาจีนโบราณหรือใกล้เคียงภาษาจีนโบราณอีกด้วย

 

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นการพิจารณาความหมายของคำว่าคัมบุน โดยดูเฉพาะด้านประเทศ หรือ เชื้อชาติของผู้เขียน 

 

เมื่อดูการใช้คำว่าคัมบุนในด้านประเภทของงานเขียน ในความหมายแคบก็จะหมายถึงงานร้อยแก้วเท่านั้น ส่วนในความหมายกว้างก็จะรวมงานเขียนทุกประเภท ทั้งงานที่เป็นและไม่เป็นวรรณกรรม และรวมวรรณกรรมทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองด้วย ในกรณีที่จะพูดถึงวรรณกรรมโดยเฉพาะก็อาจใช้คำว่าคัมบุงงะกุ(漢文学) โดยถ้าจะเจาะจงเฉพาะบทกวีจีนก็ใช้คำว่า คันฌิ(漢詩)

 

เมื่อคนญี่ปุ่นเขียนคัมบุนคันฌินั้น ก็คงมีทั้งที่เขียนได้ดีมากคือเหมือนหรือใกล้เคียงกับคัมบุนคันฌิของคนจีน ในขณะเดียวกันก็มีคัมบุนคันฌิของคนญี่ปุ่นที่เพี้ยนไปมากบ้างน้อยบ้าง เนื่องจากความรู้ที่มีไม่มากพอ หรืออิทธิพลของภาษาแม่ ซึ่งอาจเรียกว่า ภาษาจีนสไตล์ญี่ปุ่น เมื่อเวลาผ่านไปคนญี่ปุ่นก็ค่อย ๆ เขียนคัมบุนคันฌิที่ใกล้เคียงภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งเขียนภาษาญี่ปุ่นที่ใกล้เคียงภาษาจีนมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจเรียกว่า ภาษาญี่ปุ่นสไตล์จีน ก็ได้

 

แม้หลังจากญี่ปุ่นได้เริ่มใช้อักษรฮิระงะนะและคะตะกะนะและมีวรรณคดีที่ไม่ใช่คัมบุนแล้วก็ตาม คนญี่ปุ่นก็ยังคงประพันธ์คัมบุนและคันฌิจำนวนมากและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเมจิ(ค.ศ. 1868-1912)และอาจกล่าวได้ว่า วรรณคดีญีปุ่นกำเนิดมาจากคัมบุนและคันฌิมากกว่าจากวรรณคดีภาษาญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า วะบุงงะกุ(和文学)และหลังจากที่ญี่ปุ่นมีวรรณคดีภาษาญี่ปุ่นแล้ว คัมบุงงะกุ(漢文学)หรือวรรณคดีภาษาจีนก็ยังคงมีอยู่คู่กันไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

 

อย่างไรก็ตามทั้งที่คัมบุนและคันฌิมีประวัติยาวนานในการศึกษาวรรณคดีญี่ปุ่นโดยทั่วไป ทั้งในญี่ปุ่นเองและในหมู่คนต่างชาติแทบจะไม่ได้ศึกษาอะไรเกี่ยวกับคัมบุนและคันฌิเลย นักวิชาการด้านวรรณคดีญี่ปุ่นที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับคัมบุนและคันฌิก็มีน้อยมาก นักวิชาการบางคนเชื่อว่าคัมบุนและคันฌิเป็นสิ่งที่มีปริมาณมากที่สุดและสำคัญมากที่สุดในการศึกษาวรรณคดีญี่ปุ่น แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกละเลยเพิกเฉยมากที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะวิธีเขียนประวัติวรรณคดีญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากวิธีเขียนประวัติวรรณคดียุโรป ซึ่งทำให้การเขียนประวัติวรรณคดีญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับวรรณคดีที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น

 

ความรู้เกี่ยวกับคัมบุนและคันฌิจะช่วยให้เข้าใจวรรณคดีญี่ปุ่นได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทที่มีที่มาหรือได้รับอิทธิพลจากคัมบุนหรือคันฌิซึ่งมีอยู่มากมาย การศึกษาคัมบุนและคันฌิเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เนื่องจากคัมบุนและคันฌิอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมาช้านาน การศึกษาภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในการอ่านคัมบุนและคันฌิเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งในการศึกษาประวัติ วิวัฒนาการภาษาญี่ปุ่นในยุคสมัยต่าง ๆ และช่วยให้เข้าใจที่มาของภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้การศึกษาคัมบุนยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกเช่น นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น หรือผู้ที่ต้องการอ่านเอกสารราชการและจดหมายของสมัยเอะโดะจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าได้ศึกษาคัมบุนจะช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเอกสารเหล่านี้แม้จะไม่ใช่คัมบุนแต่ก็จะใช้สำนวนอีกทั้งรูปประโยคจำนวนมากจากคัมบุน

 

สำหรับผู้ศึกษาภาษาญี่ปุ่นที่ไม่มีความรู้ภาษาจีนโบราณ หากได้ศึกษาคัมบุนก็สามารถอ่านงานเขียนสำคัญต่าง ๆ โดยสามารถอ่านต้นฉบับภาษาจีนโบราณผ่านวิธีการอ่านคัมบุนแบบของญี่ปุ่นที่เรียกว่า คัมบุนคุนโดะกุ(漢文訓読) 

 

สิริมนพร สุริยะวงศ์ไพศาล
 

Read more