คินดะอิชิ โคซุเกะ 金田一耕助

คินดะอิชิ โคซุเกะ เป็นชื่อนักสืบเอกชนซึ่งเป็นตัวละครในนวนิยายสืบสวนของโยะโกะมิโสะ เซะอิฌิ(横溝正史)นักเขียนนวนิยายสืบสวนผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น โยะโกะมิโสะได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพลักษณ์ของตัวละครนี้จากตัวละครเอกชื่อแอนโทนี กิลลิงแฮม ในนวนิยายสืบสวนเรื่อง The Red House Mystery ประพันธ์โดย อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์(Alan Alexander Milne)นักเขียนชาวสก็อตแลนด์ ส่วนชื่อ “คินดะอิชิ โคซุเกะ” ตั้งตามชื่อของคิกุตะ คะสุโอะ(菊田一夫)นักเขียนบทละคร และคินดะอิชิ ยะซุโส(金田一安三)น้องชายของคินดะอิชิ เคียวซุเกะ(金田一京助)นักภาษาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เนื่องจากโยะโกะมิโสะอาศัยอยู่ในละแวกบ้านเดียวกับคินดะอิชิ ยะซุโส จึงขอยืมอักษร “คิน” มาผนวกกับ “ตะ” ของคิกุตะ แล้วบวกกับ “อิชิ” ส่วนชื่อ “โคซุเกะ” นั้นน่าจะเอามาจากชื่อคินดะอิชิ เคียวซุเกะ

 

คินดะอิชิ โคซุเกะปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง ฮนจิน ซะท์ซุจิน จิเก็น(本陣殺人事件)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ในห้องที่ปิดตาย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2007 โยะโกะมิโสะแต่งขึ้นเพื่อตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ติดต่อกันในนิตยสาร “โฮเซะกิ” ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม ค.ศ. 1946 ลักษณะเด่นของเขาคือเป็นชายร่างเล็ก ผมยุ่งกระเซิงราวกับ “รังนกกระจอก” ชอบแต่งตัวแบบญี่ปุ่น คือใส่กางเกงฮะกะมะทับชุดกิโมโนซึ่งมักอยู่ในสภาพยับย่นและเก่าโทรม สวมหมวกใบเก่าและไม่ค่อยเป็นทรง เมื่อคินดะอิชิ รู้สึกตื่นเต้นเพราะเริ่มเห็นเบาะแสของคดี ก็จะเริ่มเกาศีรษะอย่างรุนแรงและพูดติดอ่าง เขามักทำตาปรือดูง่วงซึมไม่กระตือรือร้น แต่เมื่อพบเห็นสิ่งที่สนใจสายตาจะเริ่มเปลี่ยนมาจริงจัง ปกติมีนิสัยนอบน้อม เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีวาทศิลป์ ทำให้ผู้ที่พูดคุยรู้สึกผ่อนคลายจนยอมบอกข้อมูล แต่เวลาถามคำถาม เฉลยปริศนาของคดี ตำหนิการกระทำของคนร้ายหรือคนรอบตัว ก็จะพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมด้วยวาจาแหลมคมบ่งบอกถึงสติปัญญาอันปราดเปรื่อง เขายินดีช่วยงานโดยไม่เอาหน้าเพียงเพื่อแลกกับการได้ข้อมูลบางอย่างที่จำเป็นต่ออาชีพนักสืบจากทางราชการ จึงเป็นที่ยอมรับของตำรวจที่ร่วมทำคดีด้วยบ่อย ๆ เช่น สารวัตรโทโดโรกิ สารวัตรอิโซกะวะ แต่บางครั้งก็ถูกชิงชังหรือสงสัยจากผู้เกี่ยวข้องที่รู้จักเขาอย่างผิวเผิน เนื่องจากรูปลักษณ์ดูไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งไม่ค่อยยอมเปิดเผยความคิดของตัวเองจนกว่าจะถึงเวลา คินดะอิชิ มีฐานะการเงินไม่ค่อยดี เนื่องจากชอบใช้จ่ายเกินตัวเวลาได้ค่าจ้างจากการทำคดีและไม่คิดเก็บออม อย่างไรก็ตามเขายังทำอาชีพนักสืบอยู่ได้เพราะมีผู้อุปถัมภ์อย่างคุโบะ กินโซ เจ้าของสวนผลไม้ผู้ร่ำรวยและคะซะมะ ชุนโระกุ เพื่อนร่วมชั้นผู้กว้างขวางในวงการก่อสร้าง

 

นวนิยายสืบสวนที่มีคินดะอิชิ โคซุเกะเป็นตัวละครเอกมีทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวรวมทั้งหมด 77 ตอน นวนิยายเรื่องยาวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น โกะกุมนโต(獄門島,1947)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “คดีฆาตกรรมบนเกาะโกะกุมน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2006 ยะท์ซุฮะกะมุระ(八つ墓村, 1949)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “หมู่บ้านแปดหลุมศพ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2005 อินุงะมิเกะ โนะ อิชิโสะกุ(犬神家の一族, 1950)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2004 อะกุมะ งะ คิตะริเตะ ฟุเอะ โอะ ฟุกุ(悪魔が来りて笛を吹く, 1951)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “บทเพลงปีศาจ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2005 โจะโอบะชิ(女王蜂, 1951)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ผึ้งนางพญา” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2008 อะกุมะ โนะ เทะมะริอุตะ(悪魔の手毬唄, 1957)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เพลงเล่นลูกบอลปีศาจ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2006 อะกุเรียวโต(悪霊島, 1978)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เกาะวิญญาณอาถรรพ์” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2009 นวนิยายเรื่องสุดท้ายของชุด ได้แก่ เบียวอินสะกะ โนะ คุบิกุกุริ โนะ อิเอะ(病院坂の首縊りの家, 1975)ซึ่งกล่าวถึงการหายตัวไปของคินดะอิชิ ภายหลังคลี่คลายคดีฆาตกรรมในร้านถ่ายรูปฮนโจสำเร็จ ตามเนื้อเรื่องกล่าวว่า ในปี ค.ศ. 1973 คินดะอิชิได้เดินทางไปยังลอสแองเจอลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่ปรากฏตัวอีกเลย แต่ผู้ประพันธ์โยะโกะมิโสะกล่าวว่า คินดะอิชิ ได้เดินทางกลับมาญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1975 และใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศบ้านเกิด

 

มีการนำนวนิยายชุดคินดะอิชิ โคซุเกะไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง ยะท์ซุฮะกะมุระ และ อินุงะมิเกะ โนะ อิชิโสะกุ ซึ่งเรื่องหลังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2006 จากผลงานกำกับของอิชิกะวะ คน(市川崑)ผู้เคยกำกับเรื่องเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1976 ส่วนคินดะอิชิ โคซุเกะ รับบทโดย อิฌิซะกะ โคจิ(石坂浩二)ซึ่งเคยรับบทนี้เมื่อปี ค.ศ. 1976 เช่นกัน

 

ชมนาด ศีติสาร

 

 

เอกสารอ้างอิง

ウィキペディア「金田一耕介」http://ja.wikipedia.org/wiki/%E9%87%91%E7%94%B0%E4%B8%80%E8%80%95%E5%8A%A9

別冊宝島1375(2007)『僕たちの好きな金田一耕介』宝島社

Read more