ภาษาถิ่น 方言

ภาษาถิ่น(方言)คือระบบภาษาที่ใช้กันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของประเทศญี่ปุ่น การออกเสียงคำศัพท์และไวยากรณ์ในภาษาญี่ปุ่นอาจแตกต่างกันได้ในภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ภาษาถิ่นยังหมายถึง ภาษาที่ตรงข้ามกับภาษากลาง共通語 หรือ 標準語)แนวคิดเรื่องภาษาถิ่นของญี่ปุ่นมีมานานแล้ว เห็นได้จากการกล่าวถึงภาษาถิ่นในหนังสือ โทดะอิจิฟุจุมงโค(東大寺諷誦文稿)ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 820 อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางในสมัยเมจิ รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้มีการใช้ภาษากลางทั่วประเทศ ทำให้ภาษาถิ่นถูกลดบทบาทลงเมื่อเทียบกับภาษากลาง

 

นักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการจำแนกภาษาถิ่นภาษาญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบ ได้แก่ โทโจ มิซะโอะ(東条操)ผู้แต่งหนังสือ แผนที่ภาษาถิ่นประเทศญี่ปุ่นและเขตภาษาถิ่นภาษาญี่ปุ่น(大日本方言地図・国語の方言区画)ในปี ค.ศ. 1927 นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีการจำแนกภาษาถิ่นด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น 

 

1. ภาษาถิ่นที่จำแนกแบบองค์รวม : เป็นวิธีจำแนกภาษาถิ่นตามระบบภาษาทั้งระบบคือทั้งด้านเสียงและไวยากรณ์ เสนอแนวคิดโดยโทโจ มิซะโอะ ก่อนอื่นโทโจได้แบ่งภาษาถิ่นออกเป็นภาษาถิ่นบนเกาะใหญ่(ฮนฌู)และภาษาถิ่นริวคิว(คิวฌู)จากนั้นได้แบ่งภาษาถิ่นบนเกาะใหญ่ออกเป็นอีก 3 ประเภทย่อย ได้แก่ ภาษาถิ่นแถบตะวันออก ภาษาถิ่นแถบตะวันตก และภาษาถิ่นแถบคิวฌู

 

2. ภาษาถิ่นที่จำแนกตามเสียง : ในปี ค.ศ. 1953 คินดะอิชิ ฮะรุฮิโกะ(金田一春彦)ได้จำแนกภาษาถิ่นตามการออกเสียงออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษาถิ่นในประเทศ(内地 หรือบริเวณเกาะฮนฌู)กับภาษาถิ่นริวคิว จากนั้นแบ่งภาษาถิ่นในประเทศออกเป็น ภาษาถิ่นแบบญี่ปุ่นฝั่งหน้า(表日本)ภาษาถิ่นแบบญี่ปุ่นฝั่งหลัง(裏日本)และภาษาถิ่นแบบซะท์ซุงู(薩隅)ภาษาถิ่นแบบญี่ปุ่นฝั่งหน้ามีระบบเสียงใกล้เคียงกับภาษากลาง ภาษาถิ่นแบบญี่ปุ่นฝั่งหลังหมายถึงภาษาถิ่นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ริมชายฝั่งเกาะฮ็อกไกโด ภาคเหนือของจังหวัดนิอิงะตะ และบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของภูมิภาคคันโต ตลอดจนบริเวณอิสุโมะในจังหวัดฌิมะเนะ ภาษาถิ่นแบบซะท์ซุงูคือภาษาที่ใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดคะโงะฌิมะบนเกาะคิวฌู ส่วนภาษาถิ่นริวคิวคือภาษาถิ่นบนเกาะคิวฌูอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาถิ่นแบบซะท์ซุงู มีลักษณะเด่นคือมีระบบเสียงอยู่ระหว่างภาษาถิ่นแบบซะท์ซุงูและภาษาถิ่นแบบญี่ปุ่นฝั่งหลัง

 

3. ภาษาถิ่นที่จำแนกตามโทนเสียงสูงต่ำ : เป็นวิธีจำแนกภาษาถิ่นตามโทนเสียงที่คินดะอิชิ ฮะรุฮิโกะได้นำเสนอในปี ค.ศ. 1964 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ภาษาถิ่นในภูมิภาคคิงกิและฌิโกะกุ(内輪方言)ภาษาถิ่นในภูมิภาคคันโตตะวันตก ชูบุและฌูโงะกุ(中輪方言)ภาษาถิ่นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและคิวฌู(外輪方言)และภาษาถิ่นในหมู่เกาะทางตอนใต้(南島方言)

ที่มา: 小林隆・篠崎晃一(2003)『ガイドブック方言研究』ひつじ書房(p.167)

 

4. ภาษาถิ่นที่จำแนกโดยไวยากรณ์ : เป็นวิธีจำแนกตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งมีบางส่วนซ้ำกับการจำแนกภาษาถิ่นแบบองค์รวม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องภาษาสุภาพในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

5. ภาษาถิ่นที่จำแนกตามคำศัพท์ : เป็นการจำแนกโดยดูจากคำศัพท์ที่ตรงข้ามกันระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตก หรือคำศัพท์ที่ตรงข้ามกันระหว่างญี่ปุ่นฝั่งหน้าและญี่ปุ่นฝั่งหลัง

 

6. ภาษาถิ่นที่จำแนกโดยวิธีอื่น ๆ เช่น จำแนกตามปริจเฉท วัจนกรรม

 

ในบรรดาภาษาถิ่นดังกล่าว ภาษาถิ่นแถบตะวันตกหรือภาษาถิ่นคันไซ(関西弁)เป็นภาษาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในแถบจังหวัดเกียวโต โอซากา โกเบ เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวมีจำนวนประชากรมาก และมีอิทธิพลสูงทั้งทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาษาโอซากา(大阪弁)อันเป็นหนึ่งในภาษาถิ่นคันไซที่นักพูดและดาราตลกมักใช้ในรายการบันเทิงต่าง ๆ ตลอดจนการเล่าเรื่องตลก(漫才)นับว่าเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นพิเศษ ตัวอย่างของภาษาถิ่นโอซากาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็เช่นคำว่า เม็ชชะ(めっちゃ)แปลว่า มาก โอกินิ(おおきに)แปลว่า ขอบคุณ นอกจากนี้วิธีพูดหรือคำอันเป็นเอกลักษณ์ของภาษาโอซากายังมี เช่น การเติมคำว่า ~や หรือ ~やん ต่อท้ายคำ(เช่น โซะยะ(そや)” แปลว่า ใช่ๆ) คำว่า ชะอุยังกะ(ちゃうやんか? ) แปลว่า ไม่ใช่ไม่ใช่หรือ(ちゃうตรงกับคำว่า 違うในภาษากลาง)การทำให้เป็นรูปปฏิเสธโดยใช้รูป ~へん เช่น อิกะเฮ็น(行かへん)แปลว่า ไม่ไป

 

แม้ว่าในอดีตภาษาถิ่นที่ใช้ในภูมิภาคคันไซ เช่น ภาษาเกียวโต ภาษาโอซากา ภาษาอิเซะจะมีการใช้แบ่งแยกตามชนชั้นและอาชีพ แต่ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อสังคมชนชั้นเริ่มเสื่อมสลายหาย ประกอบกับความเจริญทางด้านการคมนาคมที่ทำให้เมืองใหญ่ ๆ ขยายตัวโดยมีโอซากาเป็นศูนย์กลาง ภาษาถิ่นโอซากากำลังจะกลายเป็นภาษากลางของภูมิภาคคันไซ(関西共通語)เช่นเดียวกับภาษากลางที่ใช้ในเขตเมืองหลวงซึ่งได้กลายเป็นภาษากลางของประเทศญี่ปุ่น

 

 

ยุพวรรณ โสภิตวุฒิวงศ์

 

รายการอ้างอิง :

 

梅棹忠夫, 金田一春彦, 阪倉篤義, 日野原重明(1989)『日本語大辞典』講談社
日本方言研究会(編)(2002)『21世紀の方言学』図書刊行会
小林隆・篠崎晃一(2003)『ガイドブック方言研究』ひつじ書房
 

Read more