ชิกะมะท์ซุ มนสะเอะมน(近松門左衛門, ค.ศ. 1653-1724)

ชิกะมะท์ซุ มนสะเอะมน เป็นนักแต่งบทละครหุ่นกระบอกโจรุริ(人形浄瑠璃)และบทละครคาบูกิ(歌舞伎)ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในสมัยเอะโดะ เขาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการละครและเป็นเช็คสเปียร์แห่งโลกตะวันออก

 

ชิกะมะท์ซุ มนสะเอะมน มีชื่อเดิมว่า ซุงิโมะริ โนะบุโมะริ(杉森信盛)เกิดในตระกูลซามูไรเมื่อปี ค.ศ. 1653 ที่เอะชิเส็นโนะกุนิโยะฌิเอะ(越前国吉江藩) (ปัจจุบันคือ เขตโยะฌิเอะ(吉江)จังหวัดฟุกุอิ(福井)) เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของซามูไรผู้รับใช้ไดเมียวมะท์ซุดะอิระ ทะดะมะซะ(松平忠昌)แห่งจังหวัดเอะชิเส็น

 

ในระหว่างปี ค.ศ. 1664 – 1670 บิดาของเขาซึ่งได้กลายเป็นซามูไรไร้นายที่เรียกว่า โรนิน(浪人)ได้พาเขาและครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเมืองเกียวโต โดยได้เข้าทำงานเป็นข้ารับใช้ขุนนางเชื้อพระวงศ์ตระกูลอิชิโจเงะ(一条家)ทั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับชีวประวัติของเขาในช่วงวัย 12 – 17 ปีนี้ กล่าวกันว่าเขาได้ทำงานรับใช้ขุนนางในเกียวโตหลายคน ได้แก่ อิชิโจ เอะกัง(一条恵観)โองิมะฌิ คินมิชิ(正親町公通)แต่ไม่ได้รับตำแหน่งที่สำคัญอะไรในฐานะข้าราชสำนัก การที่เขาได้ทำงานรับใช้เหล่าขุนนางในเกียวโตเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ร่ำเรียนศิลปะเกี่ยวกับวรรณกรรมญี่ปุ่นโบราณ รวมทั้งวิธีการแต่งบทประพันธ์อันเป็นการปูพื้นฐานสำคัญไปสู่หนทางแห่งนักประพันธ์บทละครโจรุริและคาบูกิของเขาในภายหลัง ในปี ค.ศ.1671 ชิกะมะท์ซุได้ประพันธ์บทกวีไฮกุ 1 บท ซึ่งได้รับการรวบรวมอยู่ในหนังสือรวมบทกวีไฮกุ ชื่อ ทะกะระโนะกุระ(宝蔵)ซึ่งยะมะโอะกะ เก็นริน(山岡元隣)แห่งสำนักไฮไกสายเทะอิมง(貞門)เป็นผู้รวบรวม

 

หลังจากนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1673 – 1684 ชิกะมะท์ซุได้ผันตัวเองมาทำงานให้แก่แวดวงการละคร โดยในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1683 เขาได้แต่งบทละครโจรุริ ผลงานเรื่องแรกของเขาชื่อ โยะท์ซุงิ โซะงะ(世継曾我)ให้แก่โรงละครโจรุริของอุจิสะ(宇治座)แห่งเกียวโต และโรงละครทะเกะโมะโตะสะ(竹本座)แห่งโอซากา ซึ่งละครโจรุริเรื่องนี้ทำให้โรงละครทะเกะโมะโตะสะที่เป็นโรงละครเปิดใหม่ในโอซาก้าประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากชิกะมะท์ซุจะแต่งบทละครโจรุริให้กับโรงละครที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองใหญ่ทั้งสองแล้ว ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1684 – 1695 เขาได้แต่งบทละครคาบูกิให้แก่โรงละครคาบูกิมิยะโกะสะ(都座)ในเกียวโต ซึ่งมีนักแสดงคาบูกิชื่อดังชื่อ ซะกะตะ โทจูโร(坂田藤十郎, ค.ศ. 1647 – 1709)ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยดีกับชิกะมะท์ซุ ด้วยฝีมือการแสดงคาบูกิที่เน้นความสมจริงเสมือนดั่งมนุษย์ในชีวิตจริงของโทจูโร กับฝีไม้ลายมือการประพันธ์บทละครที่ร้อยเรียงถ้อยคำประพันธ์อย่างซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจมนุษย์ของชิกะมะท์ซุ ทำให้ละครคาบูกิในยุคสมัยเก็นโระกุ(元禄)นี้ได้รับความนิยมสูงสุด นับเป็นยุคทองแห่งการละครญี่ปุ่นยุคหนึ่ง

 

หลังจากที่ ซะกะตะ โทจูโร เสียชีวิต ชิกะมะท์ซุได้กลับมาแต่งบทละครโจรุริอีกครั้ง โดยได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่โอซากา เพื่อทำงานในฐานะนักแต่งบทละครหุ่นกระบอกโจรุริหลักประจำโรงละครทะเกะโมะโตะสะของนักขับลำนำโจรุริ ทะเกะโมะโตะกิดะยู(竹本義太夫)บทละครของเขาเรื่อง โซะเนะสะกิ ฌินจู(曾根崎心中)ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมชาวเมืองโอซากา กล่าวกันว่าการแสดงบทละครเรื่องนี้ได้ช่วยกู้สถานการณ์การเงินที่กำลังย่ำแย่ของโรงละครทะเกะโมะโตะสะให้ฟื้นกิจการได้อีกครั้ง

 

ชิกะมะท์ซุ แต่งบทละครโจรุริเรื่องใหม่ให้แก่โรงละครทะเกะโมะโตะสะปีละ 4 – 5 เรื่อง ผลงานบทละครโจรุริของเขาประพันธ์ขึ้นด้วยภาษาตามแบบแผนวรรณคดีญี่ปุ่นโบราณ มีการใช้ถ้อยคำอันวิจิตรงดงาม สูงส่งด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่อ้างอิงมาจากบทกวีญี่ปุ่นและวรรณคดีญี่ปุ่นโบราณที่มีชื่อเสียงเรียงร้อยถ้อยคำภาษาเป็นบทละครที่ขับกล่อมโดยนักขับลำนำบทละครโจรุริ ขับคลอด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ฌะมิเซ็น(三味線)บทละครของเขาเน้นความสมจริง และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกชองมนุษย์ได้ราวกับว่าหุ่นกระบอกนั้นมีชีวิตจริง นอกจากนี้ผู้ชมยังได้เพลิดเพลินไปกับการแสดงหุ่นที่มีกลไกการชักเชิดที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไปตามเนื้อเรื่องของบทละครที่สรรค์สร้างฉากในแต่ละองก์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ บทละครโจรุริที่เป็นเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบในตระกูลซามูไร มักแฝงแนวคิดเรื่อง ธรรมะย่อมชนะอธรรม ยิ่งไปกว่านั้นผลงานบทละครโจรุริของเขายังสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมชาวเมือง แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของมนุษย์ และศีลธรรม ตลอดจนกฎหมายที่เข้มงวดของสังคมศักดินาในยุคสมัยเอะโดะ 

 

ชิกะมะท์ซุ เสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1724 ขณะที่อายุได้ 72 ปี ปัจจุบันมีบทละครที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานของเขาคือ บทละครโจรุริ 94 เรื่อง และผลงานคาบูกิอีก 30 เรื่อง นอกจากนี้ยังคงมีผลงานอีกมากมายที่คาดว่าอาจจะเป็นผลงานของเขา

 

ผลงานบทละครหุ่นโจรุริที่มีชื่อเสียงและมักนำมาจัดแสดงบ่อยครั้งในปัจจุบัน ได้แก่ โซะเนะสะกิฌินจู ฌินจู    เท็นโนะอะมิจิมะ(心中天網島)เมะอิโดะโนะฮิเกียะกุ(冥途の飛脚)เฮอิเกะเนียวโงะโนะฌิมะ(平家女護島)โคะกุเซ็นยะ กัซเซ็น(国性爺合戦)เป็นต้น

 

กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

เอกสารอ้างอิง
森修(1961)「近松門左衛門の幼少時代について」『武井協三編 近松門左衛門 江戸人物読本』ぺりかん社
長友千代治(1993)「近松門左衛門」『近世文学研究事典』桜楓社 
近松洋男(2003)『口伝解禁 近松門左衛門の真実』中央公論新社
    

Read more