เอะโดะงะวะ รัมโปะ เป็นนักเขียนนวนิยายลึกลับสยองขวัญและสืบสวนสอบสวนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งของญี่ปุ่น เกิดที่จังหวัดมิเอะ มีชื่อจริงว่าฮิระอิ ทะโร(平井太郎)จบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ นามปากกาเอะโดะงะวะ รัมโปะนำมาจากชื่อ เอ็ดการ์ อัลลัน โป(Edgar Allan Poe)นักเขียนและกวีชาวอเมริกันผู้ริเริ่มการเขียนเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน ในวัยหนุ่มรัมโปะเปลี่ยนงานหลายประเภท ตั้งแต่งานในโรงงานต่อเรือจนถึงงานหนังสือพิมพ์ จนในปี ค.ศ. 1923 ได้เขียนเรื่อง “นิเซ็นโดกะ” (二銭銅貨)ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “ฌินเซะอิเน็น”(新青年)และได้รับการยกย่องว่าเป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์มากที่สุดเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดกระแสความนิยมนวนิยายสืบสวนในเวลาต่อมา
ในช่วงปี ค.ศ.1925-1926 รัมโปะแต่งนวนิยายด้วยการขมวดปมเรื่องแบบแหวกแนว ลึกลับและสยองขวัญออกมาติดต่อกันหลายเรื่อง เช่น "D สะกะ โนะ ซะท์ซุจินจิเก็น"(D坂の殺人事件, 1925)"ฌินริฌิเก็น"(心理試験, 1925)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “กับดักฆาตกร” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในปี พ.ศ. 2531 "ยะเนะอุระ โนะ ซัมโปะฌะ"(屋根裏の散歩者, 1925)ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำคดีของอะเกะชิ โคะโงะโร(明智小五郎)ตัวละครผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักสืบอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นที่เขียนจากจินตนาการและมุมมองที่ไม่ซ้ำใครเช่น “นิงเง็นอิซุ”(人間椅子, 1925)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เก้าอี้พิศวาส” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในปี พ.ศ. 2531 “อะกะอิเฮะยะ”(赤い部屋, 1925)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “การฆ่าครั้งสุดท้าย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในปี พ.ศ. 2531 “คะเซะอิ โนะ อุงงะ”(火星の運河, 1926)ผลงานเหล่านี้มีบทบาทอย่างสูงในการทำให้เรื่องสั้นแนวรหัสคดีเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้รัมโปะยังมีผลงานเรื่องยาวในแนวเดียวกันเช่น “อิซซุนโบฌิ”(一寸法師, 1926)ซึ่งเป็นการกลับมาอีกครั้งของนักสืบอะเกะชิ โคะโงะโร “พะโนะระมะ โทกิตัน”(パノラマ島奇談, 1926-27)
เอกลักษณ์ของงานเขียนของรัมโปะไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศอันน่าพิศวง จิตนาการอันลึกล้ำ ตลอดจนการผสมผสานระหว่างความมีเหตุผลกับความวิปริตแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในผลงานเรื่อง “อินจู”(陰獣, 1928)โอะฌิเอะ โตะ ทะบิซุรุ โอะโตะโกะ”(押絵と旅する男, 1929)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “นักเดินทางกับรูปผ้า” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ในปี พ.ศ. 2531 แต่นับตั้งแต่เรื่อง “คุโมะโอะโตะโกะ”(蜘蛛男, 1929)เป็นต้นมา ผลงานของเขาเน้นหนักไปในด้านการขายความน่าสะพรึงกลัวและลึกลับซ่อนเงื่อน ทว่านั่นกลับเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นวนิยายสืบสวนกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม รัมโปะจึงหันไปทำงานวิจารณ์และวิจัยนวนิยายสืบสวนเป็นหลัก ภายหลังสงครามสงบ เขาออกผลงานเรื่องยาว เช่น เคะนินเง็นงิ(化人幻戯, 1954-1955)ซึ่งเน้นปมปริศนาในเชิงจิตวิทยา
ในปี ค.ศ. 1947 รัมโปะได้ก่อตั้งชมรมนักเขียนนวนิยายนักสืบเพื่อเป็นรากฐานให้แก่วงการนวนิยายสืบสวนของญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกและรับตำแหน่งประธานชมรมคนแรก ในปี ค.ศ. 1954 รัมโปะออกเงินส่วนตัวเพื่อตั้งเป็นรางวัลเอะโดะงะวะ รัมโปะ เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและบริหารนิตยสาร “โฮเซะกิ” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 และได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติฌิจุโฮโฌ(紫綬褒章)ในปี ค.ศ. 1961 ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 หลังจากชมรมนักเขียนนวนิยายนักสืบเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักเขียนนวนิยายสืบสวนแห่งประเทศญี่ปุ่น รัมโปะก็เข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมคนแรกด้วย
ชมนาด ศีติสาร
เอกสารอ้างอิง
中島河太郎(1994)江戸川乱歩『日本現代文学大事典』明治書院