เอะกุนิ คะโอะริ นักเขียนหญิงผู้มีชื่อเสียงจากทั้งด้านการประพันธ์และการแปล เกิดที่โตเกียว เป็นบุตรสาวคนโตของเอะกุนิ ฌิเงะรุ(江國滋)นักเขียนบทความผู้มีชื่อเสียง เข้าสู่วงการนักเขียนอาชีพจากเรื่องสั้นวรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซี เรื่อง โมะโมะโกะ(桃子, 1986)หลังจากนั้นก็ได้สร้างงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งวรรณกรรมเยาวชน นิทาน นวนิยาย บทกวี บทความปกิณกะ ผลงานของเธอได้รับรางวัลวรรณกรรมต่าง ๆ มากมาย นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ ผลงานของเอะกุนิส่วนใหญ่เป็นแนวรักโรแมนติกกึ่งแฟนตาซี กล่าวถึงความรัก มิตรภาพ และความเอื้ออาทรเล็ก ๆ ที่ก่อให้เกิดความอบอุ่นในหัวใจ อีกทางหนึ่งก็นำเสนอความแปลกแยก อ้างว้าง ความเจ็บปวด และความตาย อันเป็นผลของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานเนื่องจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์รักสามเส้าในรูปแบบที่แตกต่างจากขนบทั่วไป เช่น รักสามเส้าระหว่างคู่สามีภรรยาในนามกับคู่เกย์ของสามี รักสามเส้าระหว่างคู่รักหนุ่มสาวกับนกน้อยซึ่งพลัดหลงเข้ามาในห้องของชายหนุ่ม รักสามเส้าที่ก่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างสองหญิงซึ่งเป็นศัตรูหัวใจ เป็นต้น ตัวละครของเอะกุนิมักมีลักษณะโดดเด่นด้วยความคิดหรือพฤติกรรมแปลกแยกแตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม แต่เป็นจุดที่ทำให้เขาหรือเธอมีเสน่ห์ดึงดูดใจ การใช้สำนวนภาษากระชับสั้น ทว่าอ่อนหวานละมุนละไม สอดแทรกสัญลักษณ์ต่าง ๆ มักใช้กลวิธีการเขียนโดยสลับมุมมองของตัวละครซึ่งเป็นคู่สัมพันธ์ต่อเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความซับซ้อนของเรื่องราว และความหลากหลายของการตีความจากมุมมองที่แตกต่าง
ผลงานสำคัญ ได้แก่ คิระคิระ ฮิกะรุ(きらきらひかる, 1991)ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง “เป็นประกาย” โดยสำนักพิมพ์อิมเมจ ในปี ค.ศ. 2002 รักกะ ซุรุ ยูกะตะ(落下する夕方, 1996)ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง “หล่น” โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2006 เระอิเซะอิ โตะ โจเนะท์ซุ โนะ อะอิดะ- รอซโซ(冷静と情熱のあいだRosso, 1999)ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง “Rosso ร้อนแรง” โดยสำนักพิมพ์อิมเมจ ในปี ค.ศ. 2002 โกกีวซุรุ จุมบิ งะ เดะกิเตะอิตะ(号泣する準備はできていた, 2003)ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง “พร้อมแล้วที่จะร้องไห้” โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2007 ผลงานของเอะกุนิได้รับการแปลเป็นภาษาไทยหลายเรื่อง นับว่าเป็นนักเขียนญี่ปุ่นปัจจุบันคนหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นในประเทศไทย
น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ
เอกสารอ้างอิง
現代女性作家読本刊行会編(2010)『現代女性作家読本⑪江國香織』鼎書房