ทะนิสะกิ จุนอิชิโร เป็นนักเขียนในกลุ่มทัมบิฮะ(耽美派)หรือ “สุนทรียนิยม” ถือกำเนิดในตระกูลพ่อค้าที่มั่งคั่งที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1886 บิดาเป็นเจ้าของกิจการการพิมพ์ที่ตาเป็นผู้ก่อตั้ง เขามีชีวิตในวัยเด็กที่สุขสบาย มีพี่เลี้ยงคอยดูแล มารดาของทะนิสะกิเป็นหญิงงาม ทำให้ตาของทะนิสะกิรักและหวงเธอมาก จึงรับบิดาของทะนิสะกิเป็นบุตรบุญธรรมและให้แต่งงานกับเธอ
เมื่อทะนิสะกิเติบโตขึ้นเศรษฐกิจของครอบครัวกลับแย่ลง เขาเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านนายจ้างที่ตัวเองทำงานเป็นครูสอนหนังสือเพื่อหารายได้ แม้จะสอบเข้ามหาวิทยาโตเกียวได้ แต่ก็ต้องเลิกเรียนกลางคันในปี ค.ศ. 1911 เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนต่อได้
ทะนิสะกิเติบโตขึ้นเป็นชายหนุ่มเจ้าชู้และเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้หญิงหลายคน ซึ่งเรื่องราวในชีวิตจริงและลักษณะนิสัยเช่นนี้ มีอิทธิพลต่องานเขียนของเขาไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้ว่าทะนิสะกิได้รังสรรค์วรรณกรรมหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องเพศ เช่น นวนิยายเรื่อง คะงิ(鍵)และ ฟูเต็น โรจิน นิกกิ(瘋癲老人日記)
ทะนิสะกิสมรสกับอิฌิกะวะ ชิโยะโกะในปี ค.ศ. 1915 แต่เขากลับไปมีความสัมพันธ์กับน้องสาวของชิโยโกะ จึงเกิดปัญหาครอบครัว ในช่วงนั้นเพื่อนสนิทที่เป็นนักเขียนเช่นเดียวกับทะนิสะกิ คือ ซะโต ฮะรุโอะคอยให้คำปรึกษากับชิโยโกะจนเกิดเป็นรักสามเส้า ทะนิสะกิจึงต้องเสียเพื่อนและหย่าขาดจากภรรยา ส่วนชิโยโกะและซะโต ฮะรุโอะได้สมรสกันในที่สุด ว่ากันว่าแท้จริงแล้วทะนิสะกิเองที่เป็นพ่อสื่อให้ทั้งสองรักกัน เรื่องราวที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของทะนิสะกินี้ มีปรากฏในงานเขียนของเขาอย่างเช่น นวนิยายเรื่อง เนะโกะ โตะ โฌโส โตะ ฟุตะริ โนะ อนนะ(猫と庄造と二人のをんな)ที่เขียนในปี ค.ศ. 1924 และนวนิยายเรื่อง อะอิ ซุเระบะ โคะโซะ(愛すればこそ)ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1928
ในปี ค.ศ. 1931 ทะนิสะกิได้สมรสกับฟุรุกะวะ โชมิโกะ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าทะนิสะกิถึง 12 ปี แต่ก็หย่าขาดกันในภายหลัง ประสบการณ์จริงในชีวิตที่ทะนิสะกิมีภรรยาที่มีอายุน้อยกว่าตนมากกว่าสิบปีนี้ ปรากฎให้เห็นในตัวละครหลักของนวนิยายเรื่อง คะงิ ที่สามีกับภรรยาอายุห่างกันถึง 12 ปี
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1934 ทะนิสะกิ จุนอิชิโร ได้สมรสกับโมะริตะ มะท์ซุโกะ หญิงสาวที่แต่งงานมีสามีแล้ว แต่กลับรักกับทะนิสะกิจนท้ายที่สุดต้องเลิกกับสามีมาใช้ชีวิตกับทะนิสะกิ
ทะนิสะกิได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำการเขียนแนว “สุนทรียนิยม” ซึ่งหมายถึงงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความนิยมในความงาม” เมื่อนำมาใช้ในวรรณคดีแล้วหมายถึงงานประพันธ์ที่ใช้วรรณศิลป์สูงส่ง ผู้รังสรรค์งานประพันธ์ประเภทนี้จะใช้ความสามารถในการเลือกสรรคำ เรียบเรียง และใช้โวหาร ซึ่งในกรณีของทะนิสะกิ จุนอิชิโรนั้นจะเห็นได้ว่า งานเขียนของเขาสามารถถ่ายทอดความงามนี้ออกมา แม้แต่ผู้อ่านชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจอารมณ์ของภาษาได้ดีเท่ากับชาวญี่ปุ่น ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงวรรณศิลป์ที่ทะนิสะกิสร้างสรรค์และสะท้อนผ่านผลงานของเขาอย่างชัดเจน เช่น การใช้โวหารในการบรรยายที่งดงาม การใช้อุปมาอุปไมย เป็นต้น ผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของทะนิสะกินั้น คือนวนิยายเรื่อง ฌิเซะอิ(刺青)ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1910 ต่อมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่โตเกียวในปี ค.ศ. 1923 เขาจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่แถบคันซะอิหรือแถบเกียวโต-โอซาก้า และที่นั่นเองที่ทำให้เขารู้สึกซาบซึ้งกับวัฒนธรรมและความงามดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นในแถบคันซะอิ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาเคยชื่นชอบในความงามแบบตะวันตก
วรรณกรรมชิ้นเอกอีกสองเรื่องของทะนิสะกิ จุนอิชิโร ได้แก่ นวนิยายเรื่อง ซะซะเมะ ยุกิ(細雪)ที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1943-1948 และนวนิยายเรื่อง ฟูเต็น โรจิน นิกกิ ในปี ค.ศ. 1961 มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายชราที่ยังหลงและหมกมุ่นในกามารมณ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวทางเพศของตนในอดีตและมีความปรารถนาในตัวลูกสะใภ้ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์และเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก
ผลงานของทะนิสะกิได้รับความนิยมจนได้รับรางวัลบุงกะกุนโฌ(文化勲章)ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1949 และเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตสถานแห่งสหรัฐอเมริกา(American Academy)ในปี ค.ศ. 1964 นอกจากนี้ทะนิสะกิยังเป็นนักเขียนที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลบ่อยที่สุดคนหนึ่งอีกด้วย แต่ก็ไม่ได้รับรางวัลโนเบลจนกระทั่งเสียชีวิต
วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 ทะนิสะกิเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่จังหวัดคะนะซะวะทางใต้ของโตเกียว ขณะอายุได้ 79 ปี
เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์