อะกุตะงะวะ ริวโนะซุเกะ(芥川龍之介, ค.ศ. 1892-1927)

อะกุตะงะวะ ริวโนะซุเกะ เป็นนักเขียนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งในวงวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยทะอิโฌ บิดาชื่อ นิอิฮะระ โทะฌิโส(新原敏三)เป็นเจ้าของฟาร์ม มารดาชื่อ นิอิฮะระ ฟุกุ(新原フク)เนื่องจากเขาเกิดในปีมังกร เดือนมังกร วันมังกร และเวลามังกร ตามความเชื่อของโหราศาสตร์ทางเอเชียตะวันออก เขาจึงมีชื่อว่า  ริวโนะซุเกะ(龍之介)ซึ่งแปลว่า บุตรชายแห่งมังกร

 

มารดาของอะกุตะงะวะมีปัญหาทางจิตจนเกิดอาการคุ้มคลั่ง อาการยิ่งทวีรุนแรงขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่เขาเกิด จึงได้แต่เก็บตัวอยู่ที่ชั้นบนของบ้านนานหลายปีจนกระทั่งเธอเสียชีวิต อะกุตะงะวะ โดโช(芥川道章)ผู้เป็นลุงของเขาไม่มีลูกจึงรับอะกุตะงะวะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาน้องสาวของมารดาอะกุตะงะวะได้แต่งงานกับบิดาของเขา ลุงจึงเลิกรับอะกุตะงะวะเป็นบุตรบุญธรรม

 

อะกุตะงะวะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และศิลปะการคัดลายมือแบบตัวต่อตัวตั้งแต่อายุเพียง 7 ปี และเริ่มแต่งกลอนไฮกุครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 9 ปี ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่อะกุตะงะวะเริ่มอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่(คือวรรณกรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยในขณะนั้น)

 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 อะกุตะงะวะเริ่มจัดทำนิตยสารที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมและศิลปะร่วมกับเพื่อนนักเรียนเรื่อยมาจนกระทั่งเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และมารดาของเขาซึ่งทนทุกข์ทรมานกับอาการป่วยทางจิตมานานได้เสียชีวิตลงในปีนี้

 

อะกุตะงะวะสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว โดยเรียนวิชาวรรณกรรมภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก ในปี ค.ศ.1913 ปีถัดมา เขาได้ก่อตั้งนิตยสารที่เกี่ยวกับวรรณกรรมขึ้นมากับเพื่อนร่วมชั้น ผลงานเรื่องแรกของเขาที่ชื่อว่า “โรเน็น”(老年)ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม และครอบครัวอะกุตะงะวะได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในแถบนอกเมืองทางเหนือ คือ ทะบะตะ ซึ่งเป็นที่ที่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นี่

 

ผลงานชิ้นสำคัญของอะกุตะงะวะ ริวโนะซุเกะส่วนใหญ่เป็นผลงานเรื่องสั้น เช่น “ราโชมอน”(羅生門)“ฮะนะ”(鼻)และนวนิยายเรื่องเดียวในชีวิตของเขา คือ ขับปะ(河童)อะกุตะงะวะเป็นศิษย์เอกของนะท์ซุเมะ โซเซะกิ(夏目漱石)เขาเคยได้รับจดหมายชมเชยผลงานเรื่องสั้น “ฮะนะ” จากโซเซะกิว่า “หากเขียนเรื่องอื่น ๆ ที่มีลักษณะนี้ได้ซัก 20-30 เรื่อง เธอจะเป็นสุดยอดนักเขียนในวงการวรรณกรรมที่ไม่มีใครสู้ได้เลย”

 

ในปี ค.ศ. 1918 อะกุตะงะวะ สมรสกับท์ซุกะโมะโตะ ฟุมิ(塚本文)และย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่คะมะกุระ อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ภาวะทางจิตของเขาปรวนแปรก็คือการที่บ้านของน้องสาวถูกไฟไหม้บางส่วน และสองวันต่อมาน้องเขยผู้ซึ่งต้องสงสัยว่าลอบวางเพลิงบ้านตนเองก็กระทำอัตวินิบาต กรรมโดยการกระโดดลงไปในรางรถไฟที่รถไฟกำลังแล่นมา เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้อะกุตะงะวะต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับอาการทางจิตของตน เป็นเหตุให้เขากระทำอัตวินิบาตกรรมโดยการดื่มยาพิษในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1927

 

เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์

Read more