ทะเกะโตะริโมะโนะงะตะรินับเป็นวรรณคดีประเภทเรื่องเล่าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คะงุยะฮิเมะ โนะ โมะโนะงะตะริ(かぐや姫の物語)หรือ ทะเกะโตะริ โนะ โอะกินะ โมะโนะงะตะริ(竹取翁物語)สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในช่วงประมาณปลายศตวรรษที่ 9 ถึงต้นศตวรรษที่ 10 ไม่ทราบนามผู้แต่ง ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประเภทนิทานเรื่องแรกของญี่ปุ่น เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายตัดไผ่ได้ไปพบเจ้าหญิงคะงุยะ(かぐや姫)ในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำกลับไปเลี้ยงดู เจ้าหญิงคะงุยะมีความงดงามมากมีชายหนุ่ม 5 คนรวมทั้งจักรพรรดิมาขอแต่งงานแต่ก็ปฏิเสธไปหมด สุดท้ายเจ้าหญิงก็กลับไปยังดวงจันทร์
โครงเรื่องมีที่มาจากนิทานของจีน วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงนิสัยใจคอและธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความอ่อนแอ ความเพ้อฝัน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการในเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติเช่น โลกสวรรค์ ยาอายุวัฒนะ เป็นต้น ความงามอันลึกลับของเจ้าหญิงคะงุยะยังสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของมนุษย์ที่ชื่นชมความงามอันลึกลับของพระจันทร์อีกด้วย
ทะเกะโตะริโมะโนะงะตะริเขียนขึ้นด้วยตัวอักษรคะนะ สันนิษฐานว่าก่อนหน้านั้นอาจมีการเขียนบันทึกด้วยตัวอักษรจีนมาก่อน การได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นพันปีเป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบวรรณกรรมเรื่องนี้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย ในวงวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าของญี่ปุ่น วรรณกรรมชิ้นนี้นับเป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดและมีผู้อ่านอย่างแพร่หลายมากที่สุด นับเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่ายิ่งในฐานะที่เป็นแม่แบบวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าหรือประเภทนิทานของญี่ปุ่นซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณกรรมญี่ปุ่นในสมัยต่อมา
อรรถยา สุวรรณระดา