โจโยคันจิ 常用漢字

โจโยคันจิแปลตามตัวอักษรคือ อักษรคันจิที่ใช้เป็นประจำ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศในปี ค.ศ. 1981 กำหนดอักษรคันจิชุดใหม่จากเดิมที่มีอยู่ อักษรคันจิชุดที่กำหนดไว้เดิมเรียกว่าโทโยคันจิ(当用漢字)

 

วัตถุประสงค์ของการกำหนดโจโยคันจิไม่ใช่เพื่อจำกัดการใช้อักษรคันจิเหมือนโทโยคันจิที่กำหนดไว้ก่อนหน้านั้น แต่เป็นเกณฑ์การใช้ตัวอักษรคันจิในเอกสารของทางราชการโดยให้มีจำนวน 1,945 ตัว 

 

หลังจากมีการใช้คอมพิวเตอร์แพร่หลายในปี ค.ศ. 1988 วารสารทางวิชาการด้านภาษาญี่ปุ่นชื่อ Nihongogaku ฉบับเดือนพฤศจิกายน ได้จัดรวมบทความพิเศษเรื่องคอมพิวเตอร์ในงานพิมพ์ เนื่องจากมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้การใช้โทรศัพท์มือถือพิมพ์ข้อความทำให้การพิมพ์ข้อความและใช้อักษรคันจิไม่เป็นเรื่องยากเหมือนการเขียนหรือการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด คนญี่ปุ่นจึงคุ้นกับการพิมพ์อักษรคันจิโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และใช้อักษรคันจิมากขึ้นกว่าเมื่อสมัยที่ต้องเขียนแต่เพียงอย่างเดียว 

 

กระทรวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ทบทวนเรื่องโจโยคันจิ โดยได้ประชุมพิจารณาในปี ค.ศ. 2005 เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ภาษาในยุคไซเบอร์ และในปี ค.ศ. 2010 ทางการได้ตัดสินใจเพิ่มจำนวนโจโยคันจิ คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้โจโยคันจิมีทั้งหมด 2,136 ตัว พร้อมกับกำหนดเสียงอ่านเป็นเสียงญี่ปุ่น(訓)2352 คำ เสียงจีนแบบญี่ปุ่น(音)อีก 2,036 คำ และมีการเปลี่ยนตัวอักษรและเสียงอ่านของคำโจโยคันจิเดิมเล็กน้อย ส่วนสำคัญ(部首)ของโจโยคันจินั้นยังคงยึดหลักการแบ่งตามพจนานุกรมโคคิ(康熙字典)ที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1716 แต่มียกเว้นเพียงเล็กน้อยเช่นอักษร 効 ปัจจุบันส่วนสำคัญคือ 力 ในพจนานุกรมโคคิใช้อักษรโบราณ ส่วนสำคัญคือ 攵 ที่เปลี่ยนรูปเป็น 力 แล้วในปัจจุบัน

 

อักษรที่เพิ่มขึ้นปี ค.ศ. 2010 ได้แก่ 挨 曖 宛 嵐 畏 萎 椅 彙 茨 咽 淫 唄 鬱 怨 媛 艶 旺 岡 臆 俺 苛 牙 瓦 楷 潰 諧 崖 蓋 骸 柿 顎 葛 釜 鎌 韓 玩 伎 亀 毀 畿 臼 嗅 巾 僅 錦 惧 串 窟 熊 詣 憬 稽 隙 桁 拳 鍵 舷 股 虎 錮 勾 梗 喉 乞 傲 駒 頃 痕 沙 挫 采 塞 埼 柵 刹 拶 斬 恣 摯 餌 鹿 𠮟 嫉 腫 呪 袖 羞 蹴 憧 拭 尻 芯 腎 須 裾 凄 醒 脊 戚 煎 羨 腺 詮 箋 膳 狙 遡 曽 爽 痩 踪 捉 遜 汰 唾 堆 戴 誰 旦 綻 緻 酎 貼 嘲 捗 椎 爪 鶴 諦 溺 塡 妬 賭 藤 瞳 栃 頓 貪 丼 那 奈 梨 謎 鍋 匂 虹 捻 罵 剝 箸 氾 汎 阪 斑 眉 膝 肘 訃 阜 蔽 餅 璧 蔑 哺 蜂 貌 頰 睦 勃 昧 枕 蜜 冥 麺 冶 弥 闇 喩 湧 妖 瘍 沃 拉 辣 藍 璃 慄 侶 瞭 瑠 呂 賂 弄 籠 麓 脇

 

ในอนาคตมีแนวโน้มว่าอักษรโจโยคันจิน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากอักษรคันจิไม่ได้ใช้เขียนบ่อยเหมือนสมัยก่อน หากแต่เป็นการเปลี่ยนตัวอักษรจากเสียงโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ใช้เพียงแต่สามารถอ่านได้ก็เพียงพอแล้ว

 

 

วรวุฒิ จิราสมบัติ
 

Read more