ไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น 日本語の文法

ไวยากรณ์ หมายถึงกฎที่เกี่ยวข้องกับคำและการสร้างประโยค โดยประโยค(文)เป็นหน่วยพื้นฐานในการสื่อสาร(ในภาษาญี่ปุ่น ประโยคมักจบด้วยเครื่องหมาย “。” )และมีเนื้อหาสมบูรณ์ในตัวเองในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ “ประโยค” ประกอบขึ้นจาก “คำ”(語)มนุษย์เราจะใช้ “คำ” เพื่อสร้าง “ประโยค” ได้อย่างไม่จำกัด

 

ประโยคในภาษาญี่ปุ่นประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ คือ “หัวข้อ”(主題)“ภาคแสดง”(述部)“ส่วนเติมเต็ม”(補足語)และ “คำขยาย”(修飾語)โดย “ภาคแสดง” มักวางไว้ท้ายประโยค ในขณะที่ “ภาคประธาน” มักวางไว้ต้นประโยค ส่วน “ส่วนเติมเต็ม” และ “คำขยาย” วางไว้กลางประโยค แม้ในภาษาญี่ปุ่นจะมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือสามารถเรียงลำดับคำได้ค่อนข้างอิสระ แต่การเรียงลำดับคำอาจส่งผลต่อความหมายที่ต้องการเน้นย้ำ หรือความเป็นธรรมชาติของภาษาได้

 

อาจกล่าวได้ว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่นิยมใช้โครงสร้าง “หัวข้อ-ภาคแสดง”(題述構造)กล่าวคือ มีบ่อยครั้งที่บรรยายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์โดยระบุหัวข้อ(topic)ที่ต้องการกล่าวถึงอย่างชัดเจนและใช้คำช่วยハ เพื่อแสดงความเป็นหัวข้อ(“หัวข้อ” แตกต่างจาก “ประธาน”(subject)ซึ่งผู้เรียนคุ้นเคยในการเรียนภาษาอังกฤษ)

 

ในภาษาญี่ปุ่น “ภาคแสดง” เป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญที่สุดในการแสดงเนื้อความ(นอกจากคำกริยาแล้ว คำคุณศัพท์และคำนามก็อาจทำหน้าที่เป็นภาคแสดงได้เช่นเดียวกัน)และมีการแสดงความหมายต่าง ๆ เช่น เป็นความหมายบอกเล่าหรือปฏิเสธ, กาล(เหตุการณ์นั้นเกิดก่อนหรือหลังพูด(อดีตหรืออนาคต)), การณ์ลักษณะ (เหตุการณ์นั้นเกิดอยู่ในลำดับขั้นตอนใด เช่น กำลังกิน, เพิ่งเริ่มกิน หรือกินเสร็จ)หรือการแสดงทัศนะของผู้พูด (คาดคะเน, แสดงความสงสัย, ได้ยินมา ฯลฯ)

 

 “ส่วนเติมเต็ม” หมายถึงคำที่แสดงเนื้อหาเพื่อให้ประโยคสมบูรณ์ขึ้น และมักกำกับด้วยคำช่วยแสดงการก(格助詞)เพื่อแสดงหน้าที่ของคำนั้น ๆ ภายในประโยค(เช่น ทำหน้าที่เป็นกรรม หรือแสดงสถานที่ที่เกิดการกระทำ)ส่วน “คำขยาย” ไม่ว่าจะเป็นคำขยายคำนาม หรือคำขยายคำกริยา คำคุณศัพท์ ต้องวางไว้หน้าคำที่ถูกขยายเสมอ

 

อย่างไรก็ตาม ประโยคในภาษาญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบครบทั้งสี่ประเภทดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้พูดสามารถละบางส่วนได้หากพิจารณาแล้วว่า ผู้ฟังน่าจะเข้าใจ(เช่น ผู้ฟังทราบอยู่แล้ว)และบ่อยครั้งที่มีการละประธานของประโยค ว่ากันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะในภาษาญี่ปุ่นมีกริยาช่วย(助動詞เช่น 「~てくれる」)หรือภาษาสุภาพ(敬語)ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่า ใครเป็นผู้กระทำกริยาดังกล่าวแม้จะละประธานของประโยคก็ตาม

 

      สมเกียรติ เชวงกิจวณิช

 

小池清治・細川英雄・小林賢次・犬飼隆(編)(1997)『日本語学キーワード事典』朝倉書店

益岡隆志・田窪行則(1992)『基礎日本語文法』くろしお出版

Read more