ภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย タイにおける日本語

วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่นที่ชาวไทยไม่คุ้นเคย ดังนั้นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในสังคมไทยจึงมีน้อย การรับคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

 

1. ระยะแรก ไม่ปรากฏระยะเวลาเริ่มที่แน่ชัด แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เรียนรู้ผ่านการติดต่อค้าขาย เช่น ปลาริวกิว หรือ เลียวเซียว(เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อเรียกหมู่เกาะริวกิวในประเทศญี่ปุ่น)และมีคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เรียนรู้ผ่านชาติตะวันตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น กามิกาเซ่(神風)(ซึ่งใช้ในความหมายว่า หน่วยกล้าตาย)เป็นต้น

 

2. ระยะที่สอง หลังช่วงสงครามโลกจนถึงช่วงทศวรรษที่ 60 ที่ญี่ปุ่นดำเนินการฟื้นฟูประเทศและมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะพบคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นศึกษาและกีฬา โดยมีการเรียนรู้ผ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น นินจา(忍者)ซากุระ(桜)คาบูกิ(歌舞伎)โน(能)เกอิชา(芸者)ยูโด(柔道)คาราเต้(空手)โชกุน(将軍)ซามูไร(侍)ซูโม่(相撲)มีคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับสังคม ในด้านโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรคมินามาตะ(水俣病)โรคอิไตอิไต(イタイイタイ病)นอกจากนี้ มีคำว่ามาม่าซัง(ママさん)ยากูซ่า(ヤクザ)โรคซากุระ ซึ่งหมายถึงโรคซิฟิลิส หรือกามโรค ที่เป็นที่รู้จักจากกรณีหญิงไทยลักลอบไปเป็นหญิงบริการในญี่ปุ่น เป็นต้น

 

3. ระยะที่สาม ช่วงทศวรรษที่ 70 ถึงทศวรรษที่ 90 เกิดจากที่ไทยรับวัฒนธรรมการ์ตูนจากญี่ปุ่นมา ทำให้เกิดคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่มาจากสำนวนแปลในแวดวงการ์ตูน แล้วขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ศัพท์บางคำรู้จักในหมู่เด็ก ๆ เป็นหลัก แต่เป็นคำศัพท์ที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น เจ้าหนูจำไม จากการ์ตูนอิ๊กคิวซัง หมายถึง เด็กช่างถาม อุนจิ(うんち)จากการ์ตูนดร.สลัมป์ แบงก์กาโม่(蒲生)หมายถึง ธนบัตรสำหรับเด็กเล่น หรือธนบัตรปลอม (ธนบัตรสำหรับเด็กเล่นในช่วงแรกจะพิมพ์เป็นรูปการ์ตูนยอดมนุษย์กาโม่(スペクトルマン))มาคุ(魔空)หมายถึงบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นคำศัพท์ที่มาจากการเดินเรื่องยอดมนุษย์ตำรวจอวกาศเกียร์บัน

 

4. ระยะที่สี่ ช่วงปลายทศวรรษที่ 90 จนถึงปัจจุบัน เกิดจากความนิยมในผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นในหลายแขนง โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ทำให้มีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ เช่น ซูชิ(寿司)ซาชิมิ(刺身)ชิกุวะ(ちくわ)ราเม็ง(ラーメン)ชาบุชาบุ(しゃぶしゃぶ)โชยุ(醤油)เทอริยากิ(照り焼き)บ้างก็เป็นคำไทยที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้เรียกอาหารญี่ปุ่น เช่น ปูอัด ปลาหิมะ นอกจากนี้ การย้ายฐานการผลิตของโรงงานแปรรูปจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยเพราะต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า ทำให้มีการผลิตสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยจนเป็นที่รู้จัก เช่น การผลิตถั่วแดงมาก ทำให้มีการทำขนมญี่ปุ่น โดรายากิ(どら焼き)เพิ่มขึ้น การปลูกเห็ดชิเมจิ(しめじ)เห็ดโอเรนจิ(エリンギ)

 

ในปัจจุบัน ยังมีกระแสความนิยมในเรื่องอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดคำศัพท์ที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มนิตยสารแฟชั่นที่อ้างอิงแฟชั่นญี่ปุ่น มีคำว่า คาวาอี้ (かわいい)หมายถึง น่ารัก คอสเพลย์ (コスプレ)หมายถึง การแต่งตัวเลียนแบบตัวละครที่มีชื่อเพื่อมาประกวดกันในกลุ่มการ์ตูน มีการ์ตูนประเภทชายรักชายที่เรียกว่าการ์ตูนวาย คำว่า "วาย" คือตัวอักษรที่ย่อมาจากคำว่า やおい

นอกจากนี้ คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นยังปรากฏในภาษานิยมที่นิยมพูดกันตามกระแส เช่น คำว่า “คิกขุ อะโนเนะ” เป็นคำที่คนไทยคิดขึ้นเอง เพื่อใช้อธิบายท่าทางกุ๊กกิ๊ก น่ารักน่าเอ็นดู หรือบางทีก็ใช้ในความหมายที่เป็นแง่ลบ คือหมายถึงการทำตัวไร้เดียงสา คำว่า “สุโก้ย” (นิยมเขียนเพี้ยนเป็น สุโค่ย)มาจากคำว่า すごい ใช้ในความหมายว่ายอดเยี่ยม เป็นต้น 

 

ในสังคมการทำงาน บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย ทำให้คนทั่วไปเข้าใจคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น คำบางคำในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น เช่น ชะโจ(社長 : ประธานบริษัท)โชเร(朝礼 : การประชุมหน้าแถวก่อนเริ่มงาน)ระบบคัมบัง(看板 : ป้าย)ไคเซ็น(改善 : การพัฒนาให้ดีขึ้น)เป็นต้น มีการสร้างคำศัพท์ภาษาไทย เช่น 5ส อันได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย เป็นหลักในการทำงานโดยแปลมาจาก 5S(ごエス)ของญี่ปุ่น

 

ในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็มีคำศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นใช้กัน เช่น เรียกสุกี้ของไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอาหารญี่ปุ่นประเภท 鍋料理 ว่า タイスキ รถไฟฟ้า BTS เรียกว่า スカイトレイン นอกจากนี้ยังใช้คำว่า アヤさん เรียกผู้ที่มาช่วยทำงานบ้าน ต่างกับในญี่ปุ่นซึ่งจะเรียกว่า メードさん

 

 

อัษฎายุทธ ชูศรี
 

รูปภาพประกอบ:

https://pixabay.com/th/illustrations/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B0-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7-%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1-3044214/

Read more