คะโยเกียวกุ 歌謡曲

คะโยเกียวกุ คือ ชื่อเรียกดนตรีประเภทเพลงสากลญี่ปุ่นสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากต่างประเทศแต่เนื้อร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค(日本放送協会; Japan Broadcasting Corporation)ได้ใช้คำนี้ในรายการเพลงยอดฮิตทางวิทยุเมื่อต้นสมัยโชวะ มีการออกแผ่นเสียงและออกอากาศทางวิทยุ ในยุคก่อนสงคราม คือ ประมาณ ค.ศ. 1936-1941 เกิดเพลงประเภท เพลงมวลชน หรือ โคะกุมิน คะโย(国民歌謡)มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ เพลงถูกนำมากระจายเสียงทางวิทยุด้วยวัตถุประสงค์ทางการทหาร หลังสงครามยุติคะโยเกียวกุยังเป็นชื่อเรียกเพลงญี่ปุ่นสากลอยู่จนถึงปีทศวรรษที่ 1950 จึงเริ่มมีเพลงรูปแบบใหม่ ๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น

 

คะโยเกียวกุถูกจัดให้อยู่ระหว่างประเภทเพลงลูกทุ่ง หรือ เอ็งกะ(演歌)กับเพลงสากลแบบตะวันตก หรือ โยงะกุ(洋楽)เมื่อเพลง “ดอกไม้ที่น่ารัก” หรือ คะวะอิอิ ฮะนะ(可愛い花, 1959)ของวงพีนัทส์ หรือ สะ พีนะท์ซุ(ザ・ピーナッツ)กลายเป็นเพลงฮิต เพลงสากลญี่ปุ่นจึงถูกเรียกใหม่ว่าป๊อบปูลาร์ มิวสิค(Popular music)หรือเพลงป๊อป(Pops)ต่อมารูปแบบการร้องเพลงมีหลากหลายมากขึ้น และมีการประยุกต์ใช้ดนตรีตะวันตกได้อย่างมีเอกลักษณ์ จากความเฟื่องฟูของโทรทัศน์ในประมาณ ค.ศ. 1972 ทำให้เกิดชื่อเรียกใหม่ว่า เพลงนักร้องวัยรุ่นยอดนิยม หรือ อะอิโดะรุ คะโย(アイドル歌謡)หรือ นิวมิวสิค(ニューミュージック)ปัจจุบันคำว่าคะโยเกียวกุนั้นไม่ใช้เรียกเพลงสากลญี่ปุ่นที่สร้างสรรค์ในสมัยหลัง แต่จะเรียกว่า เจป๊อป(J-POP)แทน(คำนี้ คลื่นวิทยุ J-Wave เป็นผู้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก)อย่างไรก็ตาม นักร้องรุ่นใหม่ยังนำรูปแบบดนตรีแบบสมัยโชวะหรือเรียกว่า โชวะคะโย(昭和歌謡)มาประยุกต์ร้องใหม่และเป็นที่ชื่นชอบเช่นเดิม

 

ภัทร์อร  พิพัฒนกุล

Read more
โน 能

โน 能

สิริมนพร สุริยะวงศ์ไพศาล | Jun 7, 2020