『その日本語、ちょっと変かも?』
第12回 お書きします
ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร
ตอนที่ 12 นี้ จะเสนอวิธีการใช้รูปคำถ่อมตัวในภาษาญี่ปุ่น「お~します」
สำนวนนี้มีวิธีใช้อย่างไรให้เป็นธรรมชาติ ไปดูกันเลยค่ะ
สถานการณ์: ตอนกำลังส่งรายงานอาจารย์ท่านหนึ่ง
ข้อความในอีเมล
「せんせい、こんにちは。レポートを おかきしました。チェックを おねがいいたします。」(อาจารย์สวัสดีครับ ผมเขียนรายงานเสร็จแล้ว รบกวนอาจารย์ช่วยตรวจด้วยครับ)
ทุกคนคิดว่า การพูดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ
เอ…「おかきしました」 เราก็ใช้คำถ่อมตัวเพื่อแสดงความสุภาพแล้วนี่นา ทำไมถึงฟังดูแปลกล่ะ
วิธีใช้「お~します」
「お~します」เป็นหนึ่งในรูปคำถ่อมตัวที่ใช้กับ “การกระทำของตนเอง” เพื่อให้ยกย่องเกียรติอีกฝ่าย
สามารถใช้กับ
A= “การกระทำของตัวเองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอีกฝ่าย”
B= “การกระทำอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่อีกฝ่าย”
ตัวอย่าง (สถานการณ์ขอยืมปากกาของอาจารย์)
นักเรียน:せんせい、このペンを おかりしてもいいですか。
(อาจารย์ครับ ขอยืมปากกาด้ามนี้ได้ไหมครับ)
อาจารย์:いいよ、どうぞ。
(ได้สิ เชิญเลย)
กริยาขอยืม (かりる) เป็นกริยาที่จำเป็นต้องมีผู้ให้ยืม(かす)เสมอ ซึ่งตรงกับวิธีใช้แบบ A นะจ๊ะ
ด้วยเหตุนี้จึงสามารถใช้รูป「お~します」ได้
แล้วกริยาเขียน(かく)เกี่ยวข้องกับใครบ้าง?
เวลาพูดว่า “เขียนรายงาน (レポートをかく)” เป็นสิ่งที่ผู้พูดกระทำเพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
กรณีนี้หากเราใช้คำถ่อมตัวว่า 「レポートを おかきする」จะกลายเป็นความหมายว่า ผู้ฟังได้ขอร้องให้ผู้พูดเขียน และตอนนี้ผู้พูดก็ได้เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
ดังนั้น การใช้รูปถ่อมตัว「レポートをおかきする」ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้ครูรู้สึกว่า “ไม่ได้ขอร้องให้เขียนรายงานซะหน่อย” นั่นเอง
ถ้าอย่างนั้นควรพูดอย่างไรดี?
ขอแนะนำให้ทุกคนใช้รูปประโยคนี้ค่ะ
「レポートを かきました」หรือ 「レポートが できました」
แล้วมาติดตามภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่คนญี่ปุ่นเองยังต้องฉงนในตอนต่อไปนะคะ
สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ https://www.facebook.com/JapaneseChula/