『その日本語、ちょっと変かも?』
第11回 もういっぱいだから
ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร
ตอนที่ 11 นี้ จะเสนอวิธีการใช้ คำว่า いっぱい
จะมีวิธีการใช้อย่างไรบ้าง ลองไปอ่านเนื้อหากันดูเลยค่ะ
สถานการณ์: ตอนพักกลางวัน
เพื่อนญี่ปุ่น: เลิกเรียนแล้ว! ไปกินข้าวกลางวันกันมั้ย
เพื่อนคนไทย:「う~ん・・・もういっぱいだから・・・・・・」
ทุกคนคิดว่า การพูดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ
เอ…「いっぱい」 ก็มาจาก「おなかが いっぱい」ที่แปลว่า “อิ่ม” นี่นา ทำไมถึงฟังดูแปลกล่ะ
วิธีใช้「いっぱい」
「いっぱい」ใช้แสดงสภาพปริมาณ/จำนวนที่ถึงขีดสุดของการรองรับ
เช่น
きょうしつは ひとで いっぱいだ。(ในห้องเรียนมีคนเต็ม)
コップに みずが いっぱいに はいっている。(มีน้ำอยู่เต็มแก้ว)
คำว่า 「いっぱい」จึงใช้กับอย่างอื่นนอกจาก “กระเพาะอาหาร” ได้ด้วย
อะไรเต็ม?
เมื่ออยากบอกว่า “อิ่มแล้ว” ในภาษาญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่จะพูด 「おなかが いっぱい」(“ท้อง” เต็มแล้ว) โดยไม่ละคำว่า “ท้อง” (กระเพาะอาหาร)
ด้วยเหตุนี้ หากเราพูดว่า 「いっぱい」เฉย ๆ คนญี่ปุ่นอาจจะงงว่า อะไรเต็มกันแน่
ถ้าอย่างนั้นควรพูดอย่างไรดี?
ขอแนะนำให้ทุกคนใช้รูปประโยคนี้ค่ะ
「おなかが いっぱいだから」
ความรู้เสริม
พูดแต่「いっぱい」คำเดียวไม่ได้จริงหรือ ?
สามารถพูดแค่「いっぱい」 เมื่อต้องการบอกว่า “อิ่มแล้ว” ได้ เมื่อชัดเจนว่ากำลังสนทนากันในเรื่องการกินอาหารดังรูปในสไลด์ เช่น
「う~ん・・・やすみじかんに おかしを たべて、いっぱいだから・・・。」(อือ กินขนมไปเมื่อตอนพักแล้ว เลยอิ่มอยู่)
และเมื่อใช้ท่าทาง เช่น เอามือลูบท้องไปด้วย จะยิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้น
แล้วมาติดตามภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่คนญี่ปุ่นเองยังต้องฉงนในตอนต่อไปนะคะ
สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ https://www.facebook.com/JapaneseChula/