『その日本語、ちょっと変かも?』第14回 熱があって、休みます

『その日本語、ちょっと変かも?』

第14回 熱があって、休みます

 

 

ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร

 

 

 

ตอนที่ 14 นี้ นำเสนอวิธีการใช้ รูป 「て」 ที่ใช้แสดงเหตุผล

จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์: ท่านกำลังป่วยเป็นหวัด

เจ้าหน้าที่ธุรการ: 「もしもし。〇〇がっこうです。」(ฮัลโหล โรงเรียน…ครับ)

นักเรียนชาวไทย:「もしもし。Aです。すみませんが、きょうは かぜを ひいて、やすみます。」 (ฮัลโหล ผมชื่อเอครับ วันนี้ผมเป็นหวัดเลยจะขอหยุดเรียนครับ)

 

ทุกคนคิดว่าการพูดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ

 

 

 

 

 

 

 

รูป 「て」 ที่ใช้แสดงเหตุผล

ในภาษาญี่ปุ่นสามารถใช้คำกริยาหรือคำคุณศัพท์รูป「て」 เพื่อบอกเหตุผลหรือสาเหตุได้ เช่น

 あの パソコンが たかくて、かえません。 (คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นแพง เลยซื้อไม่ได้)

 たくさん あるいて、つかれました。(เพราะว่าเดินมาก เลยรู้สึกเหนื่อย)

 

อย่างไรก็ตาม รูป「て」นี้ ไม่สามารถใช้ได้ในการแสดงเหตุผลในทุกครั้งไป

 

 

 

 

 

 

เรามาทำความรู้จักกับรูปประโยคแสดงเหตุผล「ประโยคA[คำกริยาหรือคำคุณศัพท์รูปて] (สาเหตุ)、ประโยคB(ผล)」ว่าใช้ในกรณีใดได้บ้าง

 สำนวนที่สามารถใช้ในประโยคส่วนหลังซึ่งแสดงผล (ตำแหน่ง B) ต้องมีลักษณะพิเศษดังนี้

 

 

  ประโยคส่วนหลังมักใช้สำนวนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก หรือสำนวนที่แสดงว่าสามารถทำได้/ไม่สามารถทำได้ (ดูประโยคตัวอย่างในสไลด์ที่ 3)

 

  ไม่ใช้กับสำนวนที่แสดงความตั้งใจของผู้พูด (สำนวน “อยากได้” หรือ “อยากทำ” ก็ไม่สามารถใช้ได้เช่นกัน)

 

  ไม่ใช้กับการออกคำสั่ง ขอร้อง หรือชักชวน

 

 

ในกรณีนี้「やすみます」เป็นสำนวนที่แสดงความตั้งใจของคุณเอ จึงไม่สามารถใช้ได้

 

 

 

 

 

 

 

ถ้าอย่างนั้นควรพูดว่าอย่างไรดี

ขอแนะนำให้ทุกคนใช้รูปประโยคนี้ค่ะ

「きょうは かぜを ひいたので、やすみます。」

 

 

 

 

 

 

 ตัวอย่างรูปประโยค「ประโยคA[รูปて] 、ประโยคB」ที่สามารถใช้ในกรณีอื่นนอกเหนือจากการบอกเหตุผล

A「おくれて しまって、すみません。」(ขอโทษที่มาสาย) 

B「おてがみを くださって、ありがとうございます。」(ขอบพระคุณที่ส่งจดหมายมาหาค่ะ) 

C「たくさん あるいて つかれたので、ちょっと やすみたいです。」 (เดินมากจนเหนื่อยแล้ว อยากพักสักหน่อย) 

 มักนิยมใช้คู่กับสำนวนแสดงการขอบคุณหรือขอโทษ「~て+すみません/ごめんなさい/ありがとう」ดังประโยค A และB

 สามารถใช้ในประโยคC ที่มีเหตุผลซ้อนกัน 2 อย่าง ในกรณีนี้ประโยคส่วนหลังซึ่งแสดงผลสามารถใช้รูป「~たい(อยากทำ)」ได้ไม่มีปัญหาค่ะ

 

 

 

 

 

แล้วมาติดตามภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่คนญี่ปุ่นเองยังต้องฉงนในตอนต่อไปนะคะ

 

 

 

 

 

สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ  https://www.facebook.com/JapaneseChula/

Read more