ภาษาสุภาพ(敬語)ในภาษาญี่ปุ่นเป็นกลุ่มคำที่ทำให้คำหรือประโยคที่ประกอบมีเนื้อความที่สุภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง การใช้ภาษาสุภาพจะต้องคำนึงถึง ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร ผู้ที่ถูกกล่าวถึง กาลเทศะ และวัจนะลีลา เช่น ในนิตยสาร ผู้ส่งสารจะใช้ภาษาสุภาพเมื่อผู้รับสารเป็นผู้อ่านซึ่งถือว่ามีศักดิ์สูงกว่า แต่ต้องการให้เหมือนกำลังใช้ภาษาพูด เพราะโดยปกติไม่นิยมใช้ภาษาสุภาพในภาษาเขียน จุดประสงค์หลักในการใช้ภาษาสุภาพ คือเพื่อแสดงความนับถือต่อบุคคลที่กล่าวถึง และเพื่อให้ภาษาไพเราะมากยิ่งขึ้น เราสามารถแบ่งประเภทภาษาสุภาพได้ ดังนี้
1. ภาษาสุภาพเพื่อแสดงความนับถือ
ใช้เมื่อผู้พูดต้องการแสดงความเคารพนับถือต่อบุคคลที่กล่าวถึง
(1)คำยกย่อง(尊敬語)คือ คำที่ใช้ยกย่องบุคคลที่กล่าวถึง เช่น
「これは先生がくださった本だよ。」(นี่คือหนังสือที่อาจารย์ให้มา)
ในตัวอย่าง แม้ว่าในเวลาที่คุยกับเพื่อนจะใช้ภาษาปกติ ก็ใช้คำยกย่องกับอาจารย์ โดยเปลี่ยนคำกริยา くれた(ให้)เป็น くださった
คำยกย่อง มีทั้งประเภทที่เปลี่ยนคำ และประเภทที่เติมวิภัติปัจจัย มีทั้งคำนามและคำกริยา
ตัวอย่างคำนาม เช่น 娘 ลูกสาว เปลี่ยนเป็น 令嬢 ลูกสาวของผู้ฟังที่เรายกย่อง, 会社 บริษัท เปลี่ยนเป็น 貴社 บริษัทของท่าน
ตัวอย่างคำกริยา เช่น くれる ให้ เปลี่ยนเป็น くださる, 行く ไป เปลี่ยนเป็น いらっしゃる การเติมวิภัติปัจจัย โดยเติม ~あげる หรือ お~になる เช่น 寝る นอน แปลงเป็น 寝られる, かける นั่ง แปลงเป็น おかけになる
(2)คำถ่อมตัว(謙譲語)คือ คำที่ใช้ถ่อมตัวเมื่อพูดถึงการกระทำของเรา เพื่อยกย่องบุคคลที่กล่าวถึงให้มากขึ้น เช่น
「これは先生にいただいた本だよ。」(นี่คือหนังสือที่ได้รับจากอาจารย์)
คำถ่อมตัว มีทั้งประเภทที่เปลี่ยนคำ และประเภทที่เติมวิภัติปัจจัย มีทั้งคำนามและคำกริยา
ตัวอย่างคำนาม เช่น 会社 บริษัท เปลี่ยนเป็น 御社 บริษัทของผม, ดิฉัน, 原稿 งานเขียน เปลี่ยนเป็น 拙稿 งานเขียนของผม, ดิฉัน
ตัวอย่างคำกริยา เช่น 行くไป เปลี่ยนเป็น 伺う, 言う พูด เปลี่ยนเป็น 申し上げる การเติมวิภัติปัจจัย โดยเติม お~する เช่น 話すพูดคุย เปลี่ยนเป็น お話しする
2. ภาษาสุภาพเพื่อให้ภาษาไพเราะยิ่งขึ้น
ใช้เมื่อผู้พูดต้องการแสดงให้ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดพูดจาไพเราะ ใช้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการ และกรณีที่ผู้พูดไม่สนิทกับผู้ฟัง ในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ใช้อายุเป็นเกณฑ์ ดังนั้น กรณีพูดคุยกับบุพการีไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาสุภาพเหล่านี้
(3)คำสุภาพ(丁寧語)คือ คำที่ใช้แสดงความสุภาพของวลีหรือประโยค ได้แก่ การผันนาม กริยา คุณศัพท์ที่เป็นภาคแสดงของประโยคหรืออนุประโยคให้เป็นรูป ~です/~ます เช่น
คำนาม 私は学生だ。 私は学生です。
คำกริยา 私は寝る。 私は寝ます。
คำคุณศัพท์ 私は眠い。 私は眠いです。
私は元気だ。 私は元気です。
นอกจากนี้ กรณีแสดงความสุภาพของวลี สามารถใช้ คำช่วย ね แปลงเป็น ですね ให้วลีนั้นสุภาพขึ้นได้ เช่น えーと ซึ่งเป็นคำเติม(filler)แสดงว่าผู้พูดกำลังคิด เพิ่มความสุภาพโดยทำให้เป็น えーとですね ได้
(4)คำสุภาพขั้นสูง(丁重語)คือ คำที่ใช้แสดงความสุภาพที่สูงกว่า 丁寧語 ปรากฏเฉพาะบางคำเท่านั้น เช่น 言う พูด แปลงเป็น 申します, する ทำ แปลงเป็น いたします, 行く ไป แปลงเป็น 参ります เป็นต้น กรณีคำนามจะเปลี่ยนจาก です เป็น でございます แม้ว่าในพจนานุกรมจะระบุรูปปกติ แต่เวลาใช้งานต้องใช้เป็นรูป ~ます เท่านั้น
(5)คำไพเราะ(美化語)คือ คำที่เติม お~/ご~/おん~/み~ เพื่อให้มีความสละสลวย เช่น お金, お冷, おトイレ, ご飯 คำบางคำใช้ในรูปคำไพเราะเท่านั้น เช่น お冷, ご飯 ไม่สามารถใช้ว่า 冷, 飯 ได้
อัษฎายุทธ ชูศรี